เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมเทวาภิบาล ศาลากลางจังหวัดหนองคาย ชั้น 4 อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด พื้นที่เขตตรวจราชการที่ 10 ได้แก่ จังหวัดหนองคาย เลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านต่าง ๆที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรับทราบปัญหาต่างๆ โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะให้การต้อนรับ
สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง งบรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี และปัญหาสำคัญในภาพรวมของจังหวัด ได้แก่ การค้าชายแดน ยาเสพติด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การดำเนินงาน Nongkhai Sandbox และภัยพิบัติ โดยจังหวัดหนองคาย ได้รับงบประมาณ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ โครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดหนองคาย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทมธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร แหล่งอาหารเพื่อชุมชนพ้นภัยวิกฤติโควิด 19 โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผ้าฝ้าย ผ้าไหม โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการตลาด ภายใต้วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ภายใต้วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง และโครงการถังหมักประสิทธิภาพสูงเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ในระบบชุมชน จากเศษอาหารสู่สารบำรุงพืชและพลังงาน
นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รายงาน ประเด็นการค้าชายแดน ปี 2564 สถานการณ์ยาเสพติด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การดำเนินการ หนองคาย Sanbox และปัญหาภัยพิบัติ ก่อนที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าและความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และ สปป.ลาว ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย
โดยนายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การที่รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค. 64 แม้เส้นทางดังกล่าวจะยังไม่เชื่อมต่อโดยตรงกับประเทศไทย แต่ไทยก็ต้องเตรียมการรองรับเพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อม มีความเชื่อมั่นต้องทำให้สมบูรณ์ ทั้งการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งเดิมนั้นมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศสายหนองคาย-ท่านาแล้ง และการขนส่งทางรถยนต์ผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และภาคการท่องเที่ยว
ดังนั้น จังหวัดหนองคายต้องเตรียมการด้วยการจัดทำแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ก่อนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณากับกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ทันที สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเปิดประเทศ คือการทำให้ปลอดโรค ปลอดภัย มีการจัดการคมนาคมที่เป็นระบบ ไม่ให้เกิดการแออัดบนสะพาน และพิจารณาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาจจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น
ฤาษีลภ-ปวีณา//ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ประจำจังหวัดหนองคาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น