วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นักเสี่ยงโชคแห่ขอเลขเด็ด"ศาลตาโฮม-ยายจำลอง" ในดอนป่าเปือยบ้านหม้อ หลังให้โชคชาวบ้านติดต่อกันหลายงวด

วันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ ศาลตาโฮม-ยายจำลอง ในดอนป่าเปือยบ้านหม้อ หมู่ 7  ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้มีชาวบ้านในพื้นที่และชาวบ้านต่างพื้นที่ ต่างพากันนำหมากพลู บุหรี่ และธูปเทียนไปจุดกราบไหว้ขอเลขเด็ด ที่ศาลตาโฮม-ยายจำลอง  และเสี่ยงเซียมซีขอโชคลาภ เนื่องจากที่ผ่านมา มีชาวบ้านที่ได้เงินจากการถูกหวยงวดก่อนหน้านี้จำนวนหลายแสนบาท ซึ่งหลังจากได้เงินมา ก็นำมาตั้งศาลตา-ยาย บางคนนำเครื่องเล่นและตุ๊กตา มาให้วิญญาณเด็กที่สนามเด็กๆผี รวมทั้งส่องเลขเด็ดที่เศียรพระจอมปลวกในบริเวณดอนป่าเปือย และอุ้มพระประจำวันเกิดลอดถ้ำร้อยเปือย ขอให้อายุยืนยาว 100 ปี




นายพงษ์พิพัฒน์ สุระขันธ์ นายกสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าช้าเก่าแก่นับร้อยปีของชาวไทพวนบ้านหม้อ มีเนื้อที่ 36 ไร่ และชาวบ้านกำลังพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เนื่องจากมีต้นเปือยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มากกว่า 50 ต้น ซึ่งต้นเปือยแต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 200-300 ปี และสถานที่ตรงนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บริเวณนี้ เลยตั้งศาลตา-ยายขึ้นมา ชื่อว่า "ศาลตาโฮม-ยายจำลอง" เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้ เพื่อความสิริมงคลของตนเองและครอบครัว และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน















สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย จัดสัมมนา"สร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านการประชาสัมพันธ์" จังหวัดหนองคาย ประจำปีงบประมาณ 2565

วันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่ ห้องประชุมแกรนด์เบญจวรรณ โรงแรมหนองคาย ธาวิลล่า อ.เมือง จ.หนองคาย นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนา"สร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านการประชาสัมพันธ์" จังหวัดหนองคาย ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งสำนักงานจังหวัดหนองคาย จัดให้มีขึ้น 



นายเกรียงศักดิ์ ถวายชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย ได้รับมอบหมายจากกรมประประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินโครงการบริหารเครือข่ายในระดับจังหวัด จึงได้กิจกรรมดังกล่าวขึ้น  เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายรัฐบาลและนโยบายจังหวัด สร้างการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และเพื่อให้สื่อมวลชนทุกแขนง และเครือข่ายด้านการประชาสัมพันธ์ มีความรู้ความเข้าใจนโยบายรัฐบาลและนโยบายจังหวัด สามารถนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และทั่วถึงทุกพื้นที่



สำหรับกิจกรรม มีเวทีเสวนาเรื่อง "แนวทางการเขียนข่าวและช่องทางการสื่อสาร" โดยผู้แทนสื่อมวลชนหนองคาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น  นำเสนอข้อคิดเห็น โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยเครือข่ายด้านการประชาสัมพันธ์และมวลชน จำนวน 40 คน






วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

เดือดร้อนหนัก! ชาวบ้านน้ำโมงร้องรถบรรทุกดินวิ่งฝ่าหมู่บ้านกว่า 100 เที่ยว/วัน ยิ่งตีรถเปล่ายิ่งวิ่งเร็ว หวั่นอันตราย

วันที่  29 พ.ย. 2565 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านหมู่บ้านน้ำโมง หมู่ 1 ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ว่า ขณะนี้ถนนในหมู่บ้านได้มีผู้ประกอบการรถบรรทุก 6 ล้อบรรทุกดินเข้ามาใช้เส้นทางมาจากบ้านสามขา หมู่ 6 ต.กองนาง ข้ามสะพานลำห้วยโมง ผ่านบ้านน้ำโมง หมู่ 2 และหมู่ 1 ต.น้ำโมง วิ่งผ่านแยกหน้าวัดศรีชมภูองค์ตื้อ แล้วข้ามสะพานลำห้วยโมง ไปบ้านห้วยมาง หมู่ 12 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ เป็นจำนวน 100 เที่ยวต่อวัน จนทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กว่า 50 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากฝุ่นละออง และยังใช้ความเร็วสูงเวลาตีรถเปล่ากลับไปบรรทุกดินยังต้นทางพื้นที่ตำบลกองนาง ทั้งที่เป็นเส้นทางคับแคบ จนหวั่นเกรงว่าจะเกิดอันตราย



โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ในขณะที่คนในหมู่บ้านกำลังจะออกไปทำงานและเดินทางกลับเข้าบ้านพัก ทำให้การสัญจรเดินทางเข้าออกจากหมู่บ้านเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากรถยนต์ส่วนบุคคลไม่สามารถสวนทางกันกับรถบรรทุกดินได้โดยสะดวก อีกทั้งยังหวั่นเกรงว่าบุตรหลานที่เดินทางไปโรงเรียนจะได้รับอันตราย เนื่องจากรถบรรทุกดินที่เข้ามาใช้เส้นทางนั้นต่างพากันใช้ความเร็วสูง เพื่อเร่งรีบทำเที่ยววิ่งขนส่งดิน


จึงอยากวิงวอนขอให้หน่วยงานราชการระดับสูง ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยเข้ามาดูแลความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วย เนื่องจากตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา หลังจากผู้ประกอบการรายนี้เข้ามาใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้าน ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน จึงอยากให้ผู้ประกอบการไปใช้เส้นทางสายอื่น 




ธ.ก.ส. สาขาท่าบ่อ ดีเดย์ 29 พ.ย. จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รายตำบล จำนวนกว่า 8,500 ราย วงเงิน 90 ล้านบาท ช้าสุดไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค.นี้


วันที่ 29 พ.ย. 2565 นางอนงค์ คล้ายเพ็ชร ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เปิดเผยว่า สำหรับการจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565 /66 ซึ่ง ธ.ก.ส.สาชาท่าบ่อ พร้อมจ่ายเงินให้กับชาวเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565 /66 ที่ทางภาครัฐช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น เงินประกันรายได้, เงินประกันภัยข้าวนาปี และเงินปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือของรัฐบาลที่จะจ่ายให้เกษตรกรโดยตรง โดยดีเดย์จ่ายวันแรก 29 พฤศจิกายน 65 กว่า 8,500 ราย เป็นเงินกว่า 90 ล้านบาท โดยจะทำการจ่ายเงินเป็นรายตำบล




ส่วนการจ่ายเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ตำบลที่จะได้เงินก่อนคือ ตำบลโพนสา เพราะมีจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนน้อยกว่าตำบลอื่น ที่เหลือจะทยอยจ่ายวันละตำบล มีทั้งจ่ายนอกสถานที่ โดยสามารถติดตามได้ที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบล และจ่ายที่ธนาคาร ธ.ก.ส.สาขาท่าบ่อ ทั้งหมด 10 วัน ๆ ละหนึ่งตำบล เงินสูงสุดได้ไม่เกิน 20,000 บาท และจ่ายตามจำนวนไร่ที่เกษตรกรถือครองอยู่ โดยจะจ่ายช้าสุดไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคมนี้








วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ชาวนาหนองคายโอดต้นทุนพุ่ง ขายข้าวเปลือกกิโลละ 7 -8 บาทขาดทุนยับ ถึงแม้รัฐช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ /ครัวเรือน แต่เงินประกันรายได้ข้าวเหนียวรัฐไม่จ่าย จ่ายเฉพาะข้าวหอมมะลิ 10 ไร่ ชาวนาเผยปีที่ผ่านมาได้เงินประกันราคาข้าวรวมกับเงินรัฐช่วยเหลือ มีเงินชื้อวัวมาเลี้ยง 1 ตัว มาปีนี้จะซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็กยังไม่ได้

วันที่ 28 พ.ย. 2565 บรรยากาศการเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกนาปี ของชาวนา ใน จ.หนองคาย ที่เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว และนำผลผลิตเมล็ดข้าวเปลือกไปขาย ตามลานรับซื้อใกล้บ้าน พบว่าต่างประสบปัญหาเดียวกันคือ ค่าแรงเก็บเกี่ยว ค่าขนส่งสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกตกต่ำอย่างมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวนาประสบปัญหาขาดทุน




นายชาญชัย เหลาพรม อายุ 59 ปี ชาวนาบ้านป่าสัก หมู่ 4 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่นำไปขายโรงสีข้าวปีนี้ให้ราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท ซึ่งเป็นราคาข้าวต่ำมาก ปีที่ผ่านมายังได้ราคาที่ 13-14 บาทต่อกิโลกรัม ซ้ำราคาประกันรายได้ยังต่ำอึก  ทำนาปีนี้มีแต่ขาดทุน ยังดีที่ตนนั้นลงมือปลูกเอง ขนาดตนปลูกข้าวพันธุ์ส่งศูนย์ส่งเสริมการเกษตร ก็ยังไม่กำไร ท่าเป็นชาวนาทั่วไปมีแต่ขาดทุน เพราะว่าต้นทุนสูง เช่น น้ำมัน ปุ๋ยกระสอบละ 1,500 บาท ค่ารถเกี่ยวข้าว ไร่ละ 800 บาท ส่วนเงินประกันรายได้ข้าวเหนียว รัฐบาลไม่ได้สักบาท จ่ายเฉพาะข้าวหอมมะลิ 10 ไร่ ได้เงิน 3,600 บาท รวมกับเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท 20 ไร่ต่อครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 23,600 บาท ซึ่งต่างปีที่ผ่านมาทั้งเงินประกันรายได้และเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ตกแล้วได้เงินกว่า 63,000 บาท จนสามารถมีเงินซื้อวัวมาเลี้ยง 1 ตัว ในราคา 36,000 บาท  




นายชาญชัย กล่าวอีกว่า หากเทียบส่วนต่างระหว่างรายได้กับต้นทุนการผลิตต่อไร่แล้ว แตกต่างกันมาก โดยเฉลี่ยผลผลิตข้าวเปลือกได้ไร่ละประมาณ 300-400 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 7-8  บาท ได้ประมาณ 1,800-2,400 บาท หรือไม่เกิน 2,100-2,800 บาท ขณะที่รายจ่ายค่าปุ๋ยกระสอบละ 1,500 บาท  ค่ารถเกี่ยวไร่ละ 800 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าสูบน้ำ สรุปคือขายข้าวขาดทุน ทุกวันนี้ชาวนาที่นำข้าวไปขายแล้ว ได้แต่พากันนั่งปรับทุกข์ เพราะขายข้าวไม่ได้เงิน ส่วนคนที่ได้เงินคือเจ้าของรถเกี่ยวข้าว รถขนส่งข้าว และร้านขายปุ๋ยเคมี มาปีนี้ชาวนามีแต่ตายกับตาย เพราะว่าต้นทุนแพง อย่างตนทำนาทั้งหมด 77 ไร่ ต้องใช้ปุํยกว่า 30 กระสอบ ค่ารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 800 บาท รวมแล้วกว่า 61,600 บาท  ซึ่งตั้งใจว่าปีนี้ข้าวได้ราคาดีเหมือนปีที่ผ่านมา กะจะซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็กมาไว้ใช้ในครัวเรือนซัก 1 เครื่องไว้สีข้าวกินเอง ก็คงหมดหวังซะแล้ว 








จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...