วันที่ 30 ก.ย.2565 ที่บริเวณวัดแก้วพิจิตร บ้านท่าบ่อ หมู่ 9 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ พื้นที่ข้างเคียง และพระลูกวัด รวมตัวช่วยกันกวนข้าวปาด ที่เป็นขนมพื้นบ้านโบราณในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานบุญสังฆทานของวัดแก้วพิจิตรในทุกๆ ปี จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีการทำขนมปาดโบราณเอาไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนอีกด้วย
โดยงานบุญสังฆทานวัดแก้วพิจิตรนั้นจะจัดขึ้น 2 วัน ซึ่งวันแรกจะเป็นวันรวมตัวกันกวนข้าวปาดโบราณ หรือเรียกว่า"วันตั้ง" ซึ่งชาวบ้านจะมีวิธีการพลัดเปลี่ยนกันด้วยการใช้พายที่เป็นไม้พาย อุปกรณ์หาได้ง่ายทำจากกิ่งไม้สดสีเขียวของต้นมะพร้าว ช่วยกันคนและก็ปาดขนมในกระทะสลับหมุนเวียนกันไป ส่วนวิธีทำขนมปาดโบราณนั้น ซึ่งเป็นขนมไทยพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวอีสาน ที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า จากนั้นนำมานวดกับน้ำหางกะทิ เมื่อนวดเข้ากันแล้วนำหัวกะทิเติมผสมให้กัน แล้วนำไปกวนในกระทะประมาณ 1 ชั่วโมง จึงผสมเข้ากับน้ำใบเตย และน้ำตาลทรายแดง กวนให้เข้ากันจนสุกในกระทะที่เป็นเตาฟืน เพราะว่าจะได้มีกลิ่นหอม ก็จะออกมาเป็นสีเขียวสวยงาม ตามธรรมชาติซึ่งได้จากใบเตย เมื่อสุกได้ที่ก็จะพากันหาภาชนะไปใส่ พักไว้สักหน่อยก็จะใช้มีดตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง เพื่อเตรียมที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญสังฆทานของวัดฯในวันถัดมาตามประเพณีในท้องถิ่น
ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มาช่วยกันทำงานจะได้อานิสงส์ผลบุญไปตาม ๆ กันด้วยขนมข้าวปาดจำเป็นต้องอาศัยแรงคนในลักษณะเป็นการลงแขกช่วยกัน ทำให้เห็นภาพของการช่วยเหลือเกื้อกูล และมิตรภาพที่ดีต่อกันของผู้คนที่ปรากฏขึ้นภายในชุมชนแห่งนี้ และยังจัดได้ว่าเป็นขนมไทยโบราณแบบดั้งเดิมที่หารับประทานได้ยากอีกด้วย