วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จ.หนองคาย ยังวางมาตรการเข้มงวด สกัดกั้นโควิด- 19 ตามแนวชายแดนและผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด

วันที่ 31 พ.ค. 2564 นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ที่ 17 /2564 เรื่อง ข้อกำหนดการปฏิบัติตามมาตรการสำคัญ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในจังหวัดหนองคาย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จึงมีคำสั่ง ดังนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคายที่ 18/2564 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 และคำสั่งฯที่ 16/2564 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564


ข้อ 2 การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

(2.1) การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน ให้หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดหนองคาย ประก่อบด้วย กอ.รมน.นค. ,หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตหนองคาย (นรข.) ,กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 245 ให้เข้มงวดควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

(2.2) การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ให้ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย, ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคัดกรองบุคคลและรถขนส่งสินค้าตามแนวชายแดน กำหนดจุดรับส่งสินค้าให้อยู่ในพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนด โดยถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


ข้อ 3 การสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในพื้นที่

(3.1) ประชาชนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดหนองคายจากพื้นที ที่กำหนดให้เป็น 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ  และ 2 พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดตาก, จังหวัดนครปฐม, จังหวันครศรีธรรมราช, จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดเพชรบุรี, จังหวัดยะลา, จังหวัดระนอง, จังหวัดระยอง, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดสงขลา, จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ต้องรายงานตัวต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม ) ในพื้นที่ โดยต้องกักกันตัวที่บ้านหรือที่พักอาศัย (Home Quarantine) อย่างเคร่งครัดและเข้มข้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยการแยกห้องพัก ห้องสุขา อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว ฯลฯ เว้นแต่เป็นบุคคล ได้แก่ 1) ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม มาแล้วระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และมีใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate : VC) ฉบับจริงแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่  หรือ 2 มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แสดงว่าไม่พบเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ Rapid test ในเวลาภายใน 27 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด (Self-Quarantine) อีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

(3.2) บุคคลใดเดินทางมาจากพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงผู้สัมผัสและผู้อยู่ใกล้ชิดในเหตุการณ์ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองและคุมไว้สังเกต ตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน หากเพิกเฉยไม่ดำเนินการดังกล่าว มีความผิดตามคำสั่งนี้ ทั้งนี้กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองกำหนดให้ผลักดันได้  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการผลักดันตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ข้อ 4 การห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

(4.1) ทุกกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ให้ระงับหรือเลื่อนออกไป เช่น การอบรมสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ การจัดงานคอนเสิร์ต งานกิจกรรมกีฬา สภากาแฟ เป็นต้น ยกเว้นกิจกรรมทางศาสนา งานประเพณีท้องถิ่นที่ได้กำหนด และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไว้อย่างเข้มงวดแล้ว

(4.2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเหมาะสมเคร่งครัดและเข้มข้น เช่น มาตรการ D-M-H-T-T-A ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ D-Distancing การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 - 2 เมตร M - Mask Wearing การสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เมื่อออกจากที่พักอาศัยหรือเข้าไปในที่ชุมชน H-Hand Washing การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดอยู่เสมอ T-Temperature Checked การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปในสถานที่ T-Testing การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และ A-Application การมีและใช้แอพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องในการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นต้น

(4.3) ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโรคได้ เช่น การรวมตัวเล่นการพนันทุกชนิด เป็นต้น


ข้อ 5 การควบคุมการแพร่กระจายโรค จำแนกตามพื้นที่สถานการณ์

(5.1) ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่ เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสม และความพร้อมโดยให้ดำเนินการตามคำแนะนำของทางราชการและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี

(5.2) ให้ร้านอาหารสามารถบริการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยสามารถบริโภคในร้านได้แต่ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา

(5.3) ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า  คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน  สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย


ข้อ 6 การปิดและการปฏิบัติในสถานที่ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโรค ดังนี้

(6.1) สนามมวย สนามชนไก่ สนามซ้อมไก่ สนามกัดปลา

(6.2) สนามกีฬาที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เปิดและมีได้เฉพาะกิจกรรมการออกกำลังกายเล่นกีฬาประเภทนั้นๆ เท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หรือกระทำกิจกรรมอื่นใดในลักษณะเข้าข่ายการรวมกลุ่มหรือการสังสรรค์อย่างเด็ดขาด

(6.3) ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน


ข้อ 7 การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคส่วนบุคคล ให้ประชาชนทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เมื่อจำเป็นต้องออกจากเคหสถานหรือสถานที่ทำงาน เพื่อติดต่อธุระหรือกระทำการอื่นใด รวมทั้งเมื่อมีเหตุอันควรต้องสวมใส่ เช่น เมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำงานการอยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยงจะแพร่หรือได้รับเชื้อโรค การอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก เป็นต้น อันเป็นการปฏิบัติตามสุขอนามัยในการป้องกันโรคต่อตัวบุคคลและประชาชนทั่วไป


ข้อ 8 การปฏิบัติสำหรับผู้ขนส่งที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย

(8,1) มาตรการก่อนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ให้ผู้ขนส่งสินค้าแสดงเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ได้แก่ หนังสือแสดงการขนส่งสินค้า ซึ่งระบุเวลาที่จะเข้ามาและออกจากราชอาณาจักรไทย ระบูชนิดและจำนวนสินค้า ชื่อสกุลและสถานที่ที่สามารถติดต่อของผู้ขนส่งสินค้า ผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้า

(8.2) มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักรไทย

1) ให้ผู้นส่งสินค้าปฏิบัติฎารกิจในการขนส่งสินค้า ในราชอาณาจักรไทยเท่าที่จำเป็น เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับไปโดยเร็ว

2) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ผู้ขนส่งสินค้า ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Entry Screening)

3) ให้ผู้ขนส่งสินค้านำยานพาหนะไปจอดและขนส่งสินค้า ณ จุดที่กำหนด คือศูนย์ควบคุมทางศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย เท่านั้น เว้นแต่ ผู้ขนส่งสินค้าจะมีหนังสือรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ว่ามีผลเป็นลบ (Covid -Free) ซึ่งตรวจมาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ได้ภายใน 7 วัน (ถ้าเกินต้องตรวจใหม่) แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้ขนส่งสินค้าสามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้าได้ในเขตพื้นที่เขตอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย รวมทั้งให้ใช้ระบบติดตามหรือแอปพลิเคชัน เพื่อการติดตามป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด


อนึ่ง ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2458 คู่กรณีไม่อาจใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งนี้ได้


หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ อาจมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จนกล่าวจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ตามรายละเอียดดังนี้







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...