วันที่ 3 ก.พ. 2565 ที่ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอาโอยาม่า 2 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย มอบหมายให้ นายกิตติคุณ บุตรคุณ ปลัดจังหวัดหนองคาย ประธานคณะกรรมการตรวจประเมินผลงานศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ ประจำปีงบประมาณ 2565 และคณะกรรมการฯระดับจังหวัด ออกตรวจและประเมินผลการดำเนินงาน ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอาโอยาม่า 2 โดยมี ว่าที่พันตรี อภิญญา ศักดินันท์ นายอำเภอโพธิ์ตาก พร้อมด้วยนายเฉลิมพล ใยนนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอาโอยาม่า 2 , หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กำนัน ,ผู้ใหญ่บ้าน , เจ้าหน้าที่ นพค.25, คณะครู, นักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
ด้วยกรมการปกครองได้ให้จังหวัดดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ ประจำปี 2565 เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระดับอำเภอ ให้มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการสำคัญของกรมการปกครอง ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด เพื่อคัดเลือกให้ได้รับรางวัล
ทั้งนี้อำเภอโพธิ์ตาก ได้เสนอศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนอาโอยาม่า 2 รับการประเมินให้เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ ระดับจังหวัด เนื่องจากศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โรงเรียนอาโอยาม่า 2 มีกิจกรรมสำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ จำนวน 20 ชมรม ซึ่งในแต่ละชมรมจะมีครูผู้รับผิดชอบชมรม และในการสมัครเข้าร่วมชมรมนั้น ทางชมรมจะรับนักเรียนที่ต้องการเข้าร่วมโดยสมัครใจ อาทิ ชมรมเลี้ยงกบ, ชมรมเลี้ยงปลาบ่อซีเมนต์, ชมรมเลี้ยงปลาบ่อดิน, ชมรมเลี้ยงหมูป่า, ชมรมเลี้ยงไก่ไข่, ชมรมเลี้ยงเป็ดกบินทร์บุรี, ชมรมเลี้ยงไก่งวง, ชมรมเลี้ยงไก่ดำภูพาน, ชมรมเห็ด, ชมรมพืชผักสวนครัว, ชมรมไม้ผล, ชมรมยางพารา เป็นต้น
ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ยังมีการแจกพันธุ์พืชผัก และสัตว์ให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองไปขยายพันธุ์ เพื่อการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประซาชนในพื้นที่เขตอำเภอโพธิ์ตาก ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่เติบโตในครอบครัวเกษตรกร ที่ทำสวนยางพารา ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงโค กระบือ สุกร เป็ด และไก่ เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินชีวิตของประชาชน คือให้ครอบครัวตนเองอยู่อย่างเป็นสุข การทำอาชีพเสริมในครัวเรือน จึงเป็นจุดมุ่งเน้นให้มีรายได้เสริมและบุคคลในครัวเรือนมีกิจกรรมทำร่วมกัน โดยการดำเนินชีวิตตามแนทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นำมาปรับใช้ในพื้นที่ โดยประชาชนในพื้นที่นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเกิดผลเป็นรูปธรรม ตลอดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น