สภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ในโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกร หวังแลกเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านหนองคายส่งขายยัง สปป.ลาว ขณะที่สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ทำรายได้วันละ 8-9 พันบาท และเป็นที่ต้องการของตลาดสูงจนผลิตไม่ทัน ลูกค้าทั้งโคราชและกรุงเทพฯยังสนใจติดต่อไปจำหน่าย
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 นางสาวฤดี พวงจำปา สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย นายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยกลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดศรีเชียงใหม่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกป่าฝาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรได้ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยนายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรฯ ในโอกาสนำเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาทัศนศึกษาดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ หมู่ 1 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งในการนำสับปะรด GI มาแปรรูปเป็น ไวน์สับปะรด "ตำจอก" และสุราสับปะรด "ซมเซย" รวมทั้งน้ำสับปะรดสกัด 100 % แยมสับปะรด เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและทางการเกษตร จนเป็นที่ต้องการของตลาดสูงทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว
นายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า วันนี้ได้นำเกษตรกรจำนวน 90 ราย มาทัศนศึกษาดูงานจากสุพรรบุรีมาหนองคาย เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกรแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล แต่ละอำเภอว่ามีจุดเด่นอะไร ส่วนสุพรรณบุรีส่วนใหญ่ก็จะปลูกข้าวเป็นหลัก แต่องค์ความรู้ที่เกษตรกรยังเข้าไม่ถึงก็คือการที่จะเอาสินค้ามารวบรวมหรือขายออกสู่ตลาดยังแคบ เสมือนเป็นต้นน้ำที่จะส่งน้ำต่อให้ผู้บริโภคนั้นยังขาดในเรื่องนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนรู้กัน ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนถ่ายสินค้าซึ่งกันและกัน อย่างเช่นสุพรรณบุรีผลิตสินค้าอะไรที่จะสามารถส่งข้ามไปยัง สปป.ลาว มันจะเป็นการยาก ไม่เหมือนหนองคายที่มีเขตติดต่อกัน ซึ่งเกษตรกรชาวสุพรรณบุรีจะได้นำสินค้าเกษตรมาตะเข็บรอยต่อ เพื่อให้คนท้องที่จังหวัดหนองคายได้นำต่อไปยังพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งทางสุพรรณบุรีจะเป็นต้นน้ำให้ จังหวัดหนองคายก็จะเป็นกลางน้ำ นำไปสู่ปลายน้ำนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต่อว่า โครงการนี้ที่สำเร็จได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มอบงบประมาณให้สภาเกษตรกรฯทุกๆ ปี ไปจัดทัศนศึกษาให้กับเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาศึกษาดูงาน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมหาศาล เพราะว่าถ้าเกษตรกรอยู่แต่ในบ้านก็จะมีองค์ความรู้เฉพาะในพื้นที่สุพรรณบุรี แต่ถ้าได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด ก็จะได้รับรู้ว่าจังหวัดนี้ได้ดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรไปถึงไหนแล้ว หรือสุพรรณบุรีได้เดินไมถึงไหนแล้ว ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ได้รับรู้ได้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าสินค้าเกษตรจากสุพรรณบุรีส่งออกได้จะสามารถพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ด้านนายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ กล่าวว่า สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ได้รับความนิยมของตลาดเป็นอย่างมาก สามารถทำรายได้วันละ 8,000 - 9,000 บาท โดยเฉพาะช่องทางในการจำหน่ายใน Thailand Post ให้บริการส่งของทางไปรษณีย์ ทำใหัมีลูกค้ามากขึ้นจนเป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งในไทยและนครหลวงเวียงจันทน์มากขึ้นอีกด้วย จนผลิตสินค้าไม่ทันเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตไม่มี หรือมีแต่มีน้อย เพราะพื้นที่ปลูกสับปะรดลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกมันสำปะหลังแทน เนื่องจากดูแลง่าย ต้นทุนปลูกก็ต่ำ ไม่เหมือนสับปะรดซึ่งมีต้นทุนสูงในการปลูก ในเมื่อมีพื้นทีปลูกน้อยก็ทำให้ราคาสับปะรดราคาแพงตามด้วย ถึงกิโลกรัมละ 18 บาท แต่ละวันจะต้องนำสับปะรดมาทำ 2-3 ตัน อีกทั้งยังมีกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสับปะรดกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าจะนำสับปะรดพื้นที่อื่นมาทำก็กลัวจะเสียรสชาติและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เพื่อรักษาฐานลูกค้าจึงจำเป็นนำวัคถุดิบในท้องถิ่นถิ่นมาผลิต แม้จะต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม โดยล่าสุดนี้ได้มีลูกค้าจากนครราชสีมา ติดต่อมาอยากเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรากลั่น "ซมเซย" หลังจากที่เคยชิมแล้วจากการสั่งซื้อผ่าน Thailand Post แล้วถูกใจ รวมทั้งลูกค้าในกรุงเทพมหานคร อยากให้ผลิตสุรากลั่น "ซมเซย"ให้ แต่จะต้องเป็นแบรนด์ของเขา ซึ่งจะให้เครดิตของเราเป็นหลัก โดยจะมีการทำ MOU ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในไม่ช้านี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น