วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ผู้ว่าฯ หนองคาย เป็นประธานเปิดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่แบบบูรณาการ และหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในพื้นที่ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่

วันที่ 17 ก.พ. 64 ที่ หอประชุมโรงเรียนพานพร้าว ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายประเสริฐ  ลือชาธนานนท์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่แบบบูรณาการและหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จังหวัดหนองคาย ประจำปี 2564 ในโอกาสนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้มอบเงินและสิ่งของให้แก่ราษฎร ประกอบด้วย มอบทุนอุปการะเด็ก กองทุนพัฒนาเด็กในชนบทในพระราชูปธัมภ์ฯ, มอบพันธุ์ปลาให้แก่ผู้แทนตำบล, มอบเงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวที่ยากจน และสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน รวมทั้งตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว และมอบยาสามัญประจำบ้านให้แก่ผู้นำหมู่บ้านและ อสม. พร้อมออกเยี่ยมหน่วยบริการของหน่วยงานราชการในจังหวัดหนองคายที่นำมาให้บริการประชาชนและผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร




จากนั้นท่านผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายลงพื้นที่เยี่ยมและมอบถุงยังชีพซึ่งบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับการสนับสนุนจากชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดหนองคายและภาคส่วนต่างๆ อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าห่ม เครื่องใช้ที่จำเป็น หน้ากากอนามัยและเงินสงเคราะห์ แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 ราย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้


















วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ปราชญ์ชุมชนผู้สืบทอดและอนุรักษ์การทำพิณเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานไว้ให้ลูกหลานก่อนสูญหาย

"พิณ" เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่นับวันจะกลายเป็นตำนาน ที่คนรุ่นใหม่คิดว่าเป็นเครื่องดนตรีล้าหลังแต่ปราชญ์ชุมชน ศิลปินผู้รักหลงใหลเสียงพิณมาตั้งแต่วัยเด็ก ยังคงสืบสานศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดความรู้ด้านพิณให้กับผู้สนใจ และทำพิณขายเป็นที่ยอมรับมานานกว่า 35 ปี ตั้งปณิธานจะทำพิณไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีผู้ซื้อ ตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพิณให้กับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และอนุรักษ์ให้คงอยู่ ก่อนที่จะเลือนหายไป

“เมื่อได้ยินเสียงพิณ เสียงแคน อยากร้อง อยากรำ” เป็นคำพูดของ นายทองขัน  พาไสย์ อายุ 80 ปี ชาวบ้านบ้านกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย  ที่ได้เล่าเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์ว่า ตนชอบเสียงพิณ  เสียงแคนตั้งแต่อายุ 13 ปี พ่อได้ให้นำเอาควายไปเลี้ยง ได้ฟังคนแก่เขาดีดพิณเพลงลายต้อนวัวขึ้นภูเขา นั่งฟังเพลินจนควายไปกินต้นข้าวของชาวบ้าน เพราะรักและหลงใหลในเสียงพิณ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ก็ได้ไปชมการแสดงการดีดพิณของ อ.ทองใส ทับถนน วงเพชรพิณทอง ดีดพิณลายต้อนวัวขึ้นภูเขาอีกครั้ง ยิ่งฟังยิ่งชอบมาก และพูดกับตัวเองว่าหลังจากดูการแสดงดนตรีเสร็จ ว่าพรุ่งนี้จะทำพิณ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ได้ไปตัดต้นขนุน มาทำพิณในวันเดียวเสร็จ ออกแบบเองไม่มีคนสอน ได้หัดดีด โดยไม่รู้โน้ต จากนั้นได้ไปหาครูดนตรีพิณเพื่อให้ตั้งเสียงพิณให้ อาศัยจำเสียง ดีดไปดีดมาจนเป็น  ซึ่งเริ่มทำพิณครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2528 จำนวน 6 ตัว ขาย 3 ตัวแจกฟรี 3 ตัว จากนั้นก็จะไปดีดพิณในงานบุญต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ก่อนจะมาทำพิณขาย เมื่อปี พ.ศ. 2530  เรื่อยมา ซึ่งครูพิณทั่วประเทศต่างยอมรับในเสียงพิณที่ไพเราะ กังวาน ความละเอียดในงานฝีมือ และเอกลักษณ์รูปหัวพญานาค เพราะอยู่เมืองพญานาค ออกแบบเอง เป็นผู้ผลิตพิณให้กับนักเล่นพิณมืออาชีพของเมืองไทยมากว่า 30 ปี  จนได้ฉายาว่า ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขง เมืองหนองคาย



ลุงทองขันฯ กล่าวว่า พิณสมัยก่อนชาวพื้นบ้านอีสานจะเรียกว่า บักกะจับปี่ หรือบักกะจับต่ง โดยใช้ไม้ต้นขนุน ต้นสะเดาและต้นกระท้อน ซึ่งชาวบ้านนำมาขายให้  โดยจะทำพิณ 2 ประเภท คือ พิณธรรมดา และพิณไฟฟ้า พิณตัวหนึ่งจะใช้เวลาทำประมาณ 1 อาทิตย์  จะมีราคาตั้งแต่ 1,600-10,000 บาท ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญในการเป็นช่างไม้ มีความพยายามและใจรัก ส่วนหัวของพิณจะเป็นรูปพญานาค รูปใบโพธิ์เสี้ยว ซึ่งแต่ละเดือนจะมีรายได้จากการจำหน่ายพิณ 8,000-10,000 บาท บางเดือนจะมีลูกค้าสั่งซื้อ 5- 10 ตัว โดยพิณแต่ละตัวถือเป็นของมงคล เพราะทุกครั้งที่ผู้ซื้อไปตนจะทำพิธีตามความเชื่อก่อนมอบให้ไป  



ปัจจุบันบ้านของลุงทองขันฯ ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจในเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้มาเรียนรู้วิธีการทำพิณ และบางครั้งก็จะมีหน่วยงานเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษ ซึ่งลุงทองขันจะมีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนใคร คือใช้วิธีสอนด้วยนิ้วจำเสียงเป็นหลัก  มีลูกศิษย์หลายรุ่น  แต่ช่วงหลังคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมาเรียนเพราะคิดว่ามันล้าหลัง แต่ลุงทองขันฯ ก็ยังทำพิณขายเช่นเดิม ตั้งปณิธานว่า จะสืบสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านไว้ จะถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพิณ ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และจะอนุรักษ์ไว้ตลอดไป

จากความพยายามจนประสบผลสำเร็จ ในการสืบทอดและอนุรักษ์พิณเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานมานานตลอดชีวิต  และเป็นปราชญ์ชุมชนด้านพิณดนตรีอีสาน ได้รับ รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น   รางวัลทำพิณ ระดับสี่ดาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2546 - 2547  และศิลปินดีเด่นจังหวัดหนองคาย สาขา ศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2548  เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของลุงทองขัน พาไสย์ ตำนานพิณแห่งลุ่มน้ำโขงเมืองหนองคาย






กกต.เทศบาลตำบลบ้านถ่อน ร่วมกับ กกต.หนองคาย เดินหน้าเสริมสร้างความรู้การเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ เลือกตั้ง สท.-นายกเทศมนตรีบ้านถ่อน

วันที่ 16 ก.พ. 64 ที่ หอประชุมโรงเรียนบ้านถ่อนวิทยา ต.บ้านถ่อน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายปราโมทย์ สุทธากรณ์ ปลัดเทศบาลตำบลบ้านถ่อน ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งเทศบาลตำบลบ้านถ่อน เป็นประธานเปิดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล(สท.)และนายกเทศมนตรีตำบลบ้านถ่อน โดยมีผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านถ่อน เช่น นายศิริวุฒิ โคตรชมภู หมายเลข 1, นายอภิวัฒน์ โคตรชมภู อดีตนายกเทศมนตรีฯ หมายเลข 2, นายสงกรานต์ สาริกา หมายเลข 3 และผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านถ่อนทั้ง 2 เขตเลือกตั้งเดินทางมาร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพียง เพื่อปฎิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งของ กกต. เพื่อให้เกิดความสุจริตโปร่งใส เที่ยงธรรม รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 




ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จาก กกต.ประจำจังหวัดหนองคาย เป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจและชี้แจงงานให้ผู้สมัครทุกคนทำตามกฎหมายเลือกตั้งทุกขั้นตอน ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง รักษากฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสมานฉันท์ เพื่อการเลือกตั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ กติกา สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมายเลือกตั้ง โดยได้มีการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้สมัครในหัวข้อสำคัญ เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน, ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สท. และนายกเทศบาล, กฎหมายการเลือกตั้ง, วิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19









วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สลดผาตากเสื้อ! นักท่องเที่ยววัย 52 ปี ขึ้นถ่ายรูปเซลฟี่ลานหินใหญ่บนหน้าผา เกิดสะดุดร่องหินร่วงตกหน้าผาสูง 30 เมตร เสียชีวิต


วันที่ 12 ก.พ.64 ที่วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจักษ์หนองคาย ได้ระดมกำลังลงไปนำร่างของนักท่องเที่ยว ที่ผลัดตกจากก้อนหินบนหน้าผาของวัดผาตากเสื้อ ใกล้กับสกายวอล์ก ด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากบันไดที่เดินลงไปถ้ำใต้หน้าผานั้นไม่แข็งแรง อาจจะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ได้  เมื่อถึงด้านล่างพบศพผู้เสียชีวิต สวมเสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนขายาว นอนหงายเสียชีวิตอยู่บนโขดหินในป่าลึก สภาพคอหัก แขน-ขาหัก เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจักษ์ ต้องใช้เชือกผูกมัดร่างติดกับเบาะเคลื่อนย้ายนำร่างผู้ชีวิต ดึงขึ้นมาตามขั้นบันได ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ถึงนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาจากหน้าผาได้




เบื้องต้นทราบชื่อผู้ตายว่า นายเสกสรร ธิมาพันธุ์ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 201/43 ถนนพิชัยฯ หมู่ 9 ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี ซึ่งเพื่อนผู้เสียชีวิตเล่าว่า พวกตนพร้อมผู้ตายเดินทางมาเที่ยวสกายวอล์กที่วัดผาตากเสื้อ ทั้งหมด 6 คน ระหว่างที่กำลังจะเดินขึ้นไปชมวิวสกายวอล์ก ผู้ตายมองเห็นวิวสวยงามและมีโขดหินยื่นออกไปจากหน้าผา ผู้ตายได้ขึ้นไปถ่ายรูปบนก้อนหินขนาดใหญ่ เท้าเกิดไปสะดุดร่องหินทำให้เสียหลักลื่นพลัดตกเหวสูงกว่า 30 เมตร และเสียชีวิตโดยไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ทัน เพื่อนที่มาด้วยจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือ



ทั้งนี้บริเวณที่เกิดเหตุเป็นหินก้อนใหญ่ วางซ้อนหินที่ยื่นออกจากหน้าผา ที่ผู้ตายตกลงไปนั้น เป็นจุดชมวิวยอดฮิตอีกจุดหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวมักจะไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน ของวัดผาตากเสื้อ นอกจากจะเป็นที่สกายวอล์ก ซึ่งไม่ห่างกัน อยู่บริเวณด้านหลังที่พักแม่ชี  ซึ่งไม่มีรั้วกั้น ก้อนหินยังขยับได้ด้วย และเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาเกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อาจทำให้พื้นก้อนหินลื่น จนทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว เบื้องต้นหลังจากได้ให้แพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้ว และทางญาติไม่ได้ติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้กู้ภัยนำร่างของผู้ตายไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เพื่อให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป ส่วนบริเวณที่เกิดเหตุได้ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปถ่ายภาพ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นอีก


ขอบคุณภาพจากกู้ภัยประจักษ์หนองคาย





วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พุทธศาสนิกชนตั้งตารับหลวงตาบุญชื่น รอถวายน้ำเปล่า รับพรจากม้วนสบงเคาะหัวตลอดเส้นทาง คุณยายวัย 73 เผยเป็นบุญบารมีอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงตา

วันที่ 11 ก.พ. 64 ที่ริมถนนหลวงหมายเลข 211 สายอ.ท่าบ่อ-อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย บรรดาพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ต่างทยอยเดินทางมาปูเสื่อเพื่อนั่งรอกราบไหว้หลวงตาบุญชื่น ปัญญาวุฒิโก อายุ 72 ปี ตลอดเส้นทางที่หลวงตาบุญชื่นจะเดินธุดงค์ผ่านตามรอยเกจิดัง "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" พร้อมนำน้ำเปล่า-เครื่องดื่มชูกำลังมาถวายให้กับหลวงตา และนำผ้ามาวางเพื่อให้หลวงตาเหยียบย้ำเพื่อเก็บไว้บูชา และรอให้หลวงตาใช้สบงที่ม้วนเป็นท่อนเคาะศรีษะให้พรเพื่อเป็นสิริมงคล โดยไม่ขอรับปัจจัย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลช่วยอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับหลวงตาบุญชื่น ที่จะเดินธุดงค์มุ่งหน้าไปยังอ.ศรีเชียงใหม่ อ.สังคม จ.หนองคาย เข้าสู่อ.ปากชม จังหวัดเลย



คุณยายบุญช่วย ศรีภูมิภักดิ์ อายุ 73 ปี ชาวบ้านลำดวน หมู่ 4 ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า ลูกสาวได้โทรมาจากเมืองนอกบอกว่าหลวงตาบุญชื่นจะเดินธุดงค์ผ่านอำเภอท่าบ่อ จึงเดินทางมาพร้อมครอบครัวลูก-หลาน เพื่อรอกราบไหว้หลวงตาที่สี่แยกไฟแดงน้ำโมงตั้งแต่เช้าก็ไม่พบใคร จึงพากันเดินทางไปที่อำเภอศรีเชียงใหม่ หวังจะได้กราบไหว้หลวงปู่สักครั้ง แต่ก็ไม่พบใครอีกจึงต้องย้อนกลับมาก็พบชาวบ้านมานั่งรอหลวงตาที่ทางเข้าวัดศรีชมภูองค์ตื้อ สี่แยกบ้านห้วยมาง ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ ก็เลยพากันนั่งรอ นับว่าเป็นบารมีอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงตา วันนี้ก็ได้เตรียมน้ำมาถวายหลวงตาบุญชื่น ด้วย









จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...