วันที่ 17 มี.ค. 2565 ที่ วัดศรีบุญเรือง บ้านน้ำโมง หมู่ 1 ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย บรรดาร่างทรงที่เรียกว่า "นางเทียม" ในชุดเสื้อผ้าหลากสี ผ้าโพกศีรษะหลากสีเช่นกัน มือสองข้างถือมีดดาบเหมือนนักรบโบราณ พร้อมทั้งชาวบ้านในตำบลน้ำโมง ทั้ง 10 หมู่บ้าน ร่วมกันแห่บั้งไฟจิ๋วจากวัดศรีบุญเรือง ไปยังวัดศรีชมภูองค์ดื้อ ระยะทางประมาณ 300 เมตร เพื่อนำบั้งไฟถวายบูชา "หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือกันมาก โดยการแห่บั้งไฟถวายหลวงพ่อฯ ถือเป็นการบวงสรวงในวันสุดท้ายของงานประเพณีบุญเดือน 4 ในวันขึ้น 15 ค่ำ ตามประเพณีความเชื่อของคนพื้นถิ่นชาวตำบลน้ำโมง ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน โดยยังพบว่ามีประชาชนเดินมาทำบุญกราบนมัสการและปิดทองหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ อย่างต่อเนื่อง
หลังจากบรรดานางเทียมและชาวบ้านแห่บั้งไฟจิ๋วมาถึงวัด ก็เริ่มแห่รอบวิหาร 3 รอบ ก่อนนำบั้งไฟและผ้าป่าสามัคคีนำเข้าถวาย หลังจากนั้นอีก 1 วัน คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 บรรดานางเทียมและชาวบ้าน ก็จะแห่บั้งไฟไปวัดถ้ำย่างาม (โคกถ้ำ) ตั้งอยู่บ้านน้ำโมง หมู่ 2 ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เพื่อจุดบั้งไฟบูชาบวงสรวงถวายหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และเสี่ยงทายเจ้าแม่ย่างาม ณ บริเวณหน้าหอแม่ย่างามข้างเจดีย์ โดยจะมีการรำถวายของนางเทียม ซึ่ง ถือว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านตามฮีต 12 คอง 14 เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะจุดบั้งไฟเสี่ยงทายขึ้นบนฟ้า
สำหรับพิธีกรรมดังกล่าว ชาวบ้านในตำบลน้ำโมงจะจัดให้มีขึ้นทุกปี หลังเสร็จงานประเพณีบุญเดือน 4 นมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าการถวายบั้งไฟให้กับหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และทำการจุดบั้งไฟของแม่ย่างาม ที่เป็นบั้งไฟสำหรับเสี่ยงทายนั้น เพื่อให้ช่วยคุ้มครองดูแลรักษาบ้านเมืองให้ปลอดภัย ร่มเย็นเป็นสุข มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมงาน และเป็นการเสี่ยงทายฝนด้วย