วันที่ 13 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายเฉลิมศักดิ์ ธรรมเรืองฤทธิ์ หรือครูแดงบ้านศิลป์ไทย ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่บ้านทุ่งศิลป์ครูแดง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ว่ามีฝูงนกกระจาบจำนวนมากเข้าไปอาศัยทำรังอยู่ที่ต้นธูปฤาษีกลางสระน้ำและบริเวณต้นไม้ริมสระน้ำจึงไปตรวจสอบ พบครูแดงบ้านศิลป์ไทย และเด็กนักเรียนพร้อมผู้ปกครองกำลังถ่ายภาพนกกระจาบทำรังอยู่บนยอดต้นธูปฤาษีกลางสระน้ำดังกล่าว โดยพบว่าบ้างรังก็ออกลูกแล้ว บางรังตัวผู้กำลังสร้างรังด้วยการโน้มต้นธูปฤาษีแล้วนำใบหญ้า ใบข้าวในท้องนาที่นกกระจาบลงจิก รีดเป็นเส้นมาสานถักทอเป็นรัง พร้อมเกี้ยวพาราสีตัวเมียให้มาอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้กำเนิดลูกน้อย ซึ่งพบว่าต้นธูปฤาษีมีฝูงนกมาจับจองอาศัยทำรัง สร้างเป็นหมู่บ้าน รังใครรังมัน คู่ใครคู่มันกว่า 100 รัง และส่งเสียงร้องเจี๊ยวจ๊าวดังไปทั่วบริเวณ เป็นการสร้างสีสันบรรยากาศให้แก่เด็กและผู้ปกครองที่มาดูด้วยความสนใจอย่างคึกคัก และเป็นที่น่าสังเกตุอีกอย่างก็คือ นกกระจาบนั้นสามารถที่จะรู้ทิศทางของฝน ว่าฝนจะมาจากทิศไหนก็จะทำรังหันปากช่องเข้ารังหลบไปอีกด้าน เพื่อป้องกันน้ำฝนสาดเข้ารังนั่นเอง
ครูแดงบ้านศิลป์ไทย กล่าวว่า เดิมทีสระน้ำแห่งนี้จะปลูกบัวแดงไว้สำหรับถ่ายรูป หลังจากปลูกไปได้ปีเดียวบัวที่ปลูกไว้ก็ตายหมด แต่มีต้นธูปฤาษีขึ้นมาแทน มาปีที่สองนำบัวแดงมาปลูกอีก แต่พอถึงหน้าแล้งสระน้ำแห้งบัวก็ตายอีก และต้นธูปฤาษีก็ขึ้นมาอีก แล้วก็มีนกมาทำรัง แล้วก็ทำรังเยอะขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นที่อาศัยของนก จึงได้อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้นกได้มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น และเพื่อให้รู้ถึงฤดูผสมพันธุ์ของนกชนิดต่างๆ สภาพพื้นที่ที่นกใช้ทำรัง วัสดุที่ใช้ทำรัง พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี ตลอดจนช่วงเวลาที่นกแต่ละชนิดทำรัง
โดยนกกระจาบมาทำรังที่สระน้ำแห่งนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งต้นธูปฤาษีที่เกิดขึ้นน่าจะมากับเง้าของบัว ครั้งแรกนกมาทำรังแค่รังสองรัง หลังจากมีฝนตกทำให้สระมีน้ำ แล้วต้นธูปฤาษีมีมากขึ้น แล้วนกกระจาบก็มาทำรังมากขึ้น จึงได้อนุรักษ์ไว้ และนกกระจาบเปรียบเทียบได้ว่าเป็นสถาปนิกตัวน้อย ที่รังสรรค์รังจากการสานต่อของเศษใบหญ้าใบข้าวเป็นรูปทรงต่างๆ ที่สวยงาม ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยาก เพราะพื้นที่อาศัยของนกถูกรบกวน ทำให้ไม่สามารถสร้างรังอยู่อาศัยได้