วันที่ 27 ธ.ค.2565 ที่ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม จ.หนองคาย นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงานเทศกาลกล้วยน้ำว้า ประจำปี 2565 ของอำเภอสังคมที่ได้กำหนดให้มีกิจกรรมขึ้น ประกอบด้วย การจัดขบวนแห่ประดับตกแต่งจากล้วยและผลิตผลทางการเกษตรทุกตำบล จำนวน 5 ขบวน , การแข่งขันเซียนกล้วยอำเภอสังคม , การประกวดตำกล้วยลีลา , การประกวดการประดิษฐ์ตกแต่งจากกล้วย , การจัดซุ้มนิทรรศการแสดงผลผลิตจากกล้วย ผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากกล้วย ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร และการเดินแบบผ้าไทยพื้นเมือง
โดยเฉพาะการแข่งขันที่สร้างสีสันความสนุกสนาน ก็คือการแข่งขันเซียนกล้วยอำเภอสังคม ซึ่งแต่ละท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ส่งทีมเข้าแข่งรวมทั้งสิ้น 5 ทีมๆ ละ 4 คน โดยคนแรกจะเป็นเซียนเตะต้นกล้วย คนที่ 2 เซียนตัดเครือกล้วย คนที่ 3 เซียนตัดใบตอง และคนที่ 4 เซียนปลอกกล้วย ซึ่งแต่ละทีมต่างส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะเซียนเตะต้นกล้วย ยังไม่ได้แข่งก็เสียงหัวเราะให้กับกองเชืยร์และประชาชนที่มาร่วมชมการแข่งขันเป็นอย่างมาก ก่อนเริ่มการแข่งก็ได้ให้ผู้เข้าแข่งขันโชว์ลีลาร่ายรำไหว้ครูมวยไทย พอเริ่มการแข่งขัน แต่ละคนต่างก็ใช้ทักษะแม่ไม้มวยไทย ทั้งเข่า ทั้งเตะต้นกล้วยอย่างไม่ยั้ง สร้างความครื้นเครงสนุกสนานให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีการแข่งขัน“ตำกล้วยลีลา” ที่สุดสนุก เต้นกันกระจาย ทั้ง 5 ทีม ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละทีมจะส่งคนได้ไม่เกิน 5 คน โดยต้องตำไปด้วยและเต้นไปด้วย ซึ่งแต่ละทีมต่างก็จะพกความมั่นใจกันมาเกินร้อยทุกทีม พาสาก ครกใหญ่ นำมาจากที่บ้าน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และมีเคล็ดลับการตำกล้วยให้อร่อยเด็ดสุด และรสชาติ 3 รส จะต้องมีความกลมกลืนกัน พอเริ่มแข่งขันพร้อมเพลงประกอบ"สาวเต่างอย" เรียกเสียงปรบมือ ฮากันลั่น ทั้งชาวบ้านที่มามุงดูการแข่งขัน คณะกรรมการ รวมไปถึงหัวส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นที่มานั่งชมให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขันในครั้งนี้ โดยมีชาวบ้านที่มาให้กำลังใจส่งเสียงเชียร์ และเสียงหัวเราะกันดังลั่น อย่างสนุกสนาน ซึ่งผู้แข่งขันแกว่งสากแต่ละครั้ง น้ำปลาร้ากระจาย จนทำให้ผู้ชมต้องถอยห่าง เต้นไปกว่า 5 นาที การแข่งขันก็สิ้นสุดลง พร้อมกับหน้าตาที่สวยงามของตำกล้วยลีลา
นายสมควร ใจซื่อ นายอำเภอสังคม กล่าวว่า อำเภอสังคมเป็นพื้นที่ ที่มีการปลูกกล้วยน้ำว้ามากที่สุดของจังหวัดหนองคาย กล้วยน้ำว้าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้า GI เพื่อให้ได้รับผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยให้มีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่ารายได้ และคุณค่าทางด้านโภชนาการ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนกลายเป็น "สัญลักษณ์" และ "อัตลักษณ์" ของอำเภอสังคมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกล้วยตากสังคม GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นสินค้าที่มี"อัตลักษณ์" และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ทั้งด้านงบประมาณและแรงกายแรงใจ เพื่อรักษาสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ "กล้วย" ของอำเภอสังคมให้คงอยู่ต่อไป