นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 10 พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของรัฐบาล เรื่องการท่องเที่ยว ณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดอนป่าเปือยบ้านหม้อ จ.หนองคาย เผยดีใจที่ทางชุมชนไทพวนบ้านหม้อได้มีการสืบสานต่อยอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี และชื่นชอบหวานหมอน้อย ชิมแล้วรู้สึกสดชื่น อยากให้ต่อยอดประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
วันที่ 22 ส.ค. 2566 ที่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดอนป่าเปือยบ้านหม้อ หมู่ที่ 7 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 10 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี) พร้อมด้วยนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของรัฐบาล เรื่องการท่องเทึ่ยว ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติดอนป่าเปือยบ้านหม้อ ซึ่งมีต้นเปือยขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยมี หลวงปู่ฉลวย อชิโต เจ้าอาวาสวัดป่าโนนหินเสื่อ/ประธานอุปถัมป์พัฒนาดอนป่าเปือยบ้านหม้อ ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี นายอำเภอศรีเชียงใหม่ นายพิทยา ชำนาญเนียม ปลัดอาวุโสฯ นายอภินันท์ อุตตมะ นายก อบต.บ้านหม้อ นายสนอง เข็มพรหมมา ประธานคณะกรรมการจิตอาสาพัฒนาดอนป่าเปือยบ้านหม้อ และคณะกรรมการฯ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ พร้อมจัดชุดการแสดงชองชาวไทพวน ชื่อชุด"มนต์เสน่ห์ไทพวนบ้านหม้อ" ให้แขกผู้มาเยือนได้รับชม และพาเยี่ยมชมป่าเปือยบนพื้นที่กว่า 36 ไร่ และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปของชุมชน
นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การมาครั้งนี้เป็นการเดินทางมาตรวจราชการแบบบูรณาการซึ่งมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการท่องเที่ยว และเรื่องการพัฒนาศักยภาพคน สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว ก็จะมาดูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งลักษณะของการท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคายนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ จะเห็นได้ว่าจะมีวัดตามริมแม่น้ำโขงตั้งแต่อำเภอสังคมไปจนถึงอำเภอโพนพิสัย ซึ่งเมื่อก่อนมีไปจนถึงอำเภอบึงโขงหลงซะด้วยซ้ำ ตั้งแต่บึงกาฬยังไม่แยกเป็นจังหวัด การท่องเที่ยวนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประเพณีค่อนข้างเยอะ และก็ดีใจที่ทางชุมชนไทพวนบ้านหม้อได้มีการสืบสานต่อยอดวัฒนธรรม โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆรวมทั้งประเพณี และอีกอย่างที่มาวันนี้นั้น ยังไม่เคยชิมหวานหมอน้อย ซึ่งผี้งเคยเจอ แต่พอได้ชิมแล้วรู้สึกสดชื่น คล้ายๆกับเฉาก๋วยกำแพงเพชร ซึ่งก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์เล่าเรื่องการต่อยอดในสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของการท่องเที่ยวของดอนป่าเปือยแห่งนี้หรือหลายๆที่ สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย ซึ่งความสะอาดนั้นคงต้องอาศัยความร่วมมือพี่น้องประชาชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต้องเข้ามาช่วย และที่สำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเข้ามาข่วยกัน แล้วในส่วนของการท่องเที่ยวต้องช่วยกันอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม รวมทั้งวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นให้คงไว้สืบไป
สำหรับดอนป่าเปือยแห่งนี้ ถือเป็นป่าช้าเก่าแก่นับร้อยปีของชาวไทพวนบ้านหม้อ และมีต้นเป็อย หรือต้นตะแบกขนาดใหญ่จำนวนมากกว่า 92 ต้น แต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 300-400 ปี และมีต้นเปือยขนาดใหญ่ทึ่สุดในประเทศไทย โดยมีเส้นรอบวงของลำต้นขนาด 5.30 เมตร และยังเป็นป่าเปือยผืนสุดท้ายที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าว-ป่าแก้งไก่ ที่สำคัญป่่าเปือยแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อปี พ.ศ. 2544 อีกด้วย
โดยในพื้นที่ยังมีต้นไม้หวงห้ามขนาดใหญ่ อาทิเช่น ต้นตะเคียนทอง ต้นพะยูงหิน ต้นพะยอม ต้นอ้อยช้าง ต้นมะดูกใหญ่ และไม้สมุนไพรหลากหลายชนิด ชาวบ้านในพื้นที่ได้เร็งเห็นความสำคัญ จึงได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมธรรมชาติของป่าเปือย โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค.65 ได้ทำการสร้างสะพานชื่อว่า "สะพานทางไปสู่สวรรค์" เพื่อเดินเข้าไปชมป่าเปือยทุกต้นในป่าธรรมชาติแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันได้สร้างสะพานไปแล้ว 312 เมตร และจะสร้างไปเลื่อยๆไปจนครบต้นเปือยทุกต้น ตามกำลังทรัพย์ของชาวบ้านที่มีความเชื่อและศรัทธา
พร้อมทั้งสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและสร้างอนุสรณ์สถานใหับรรพบุรุษ เช่น ศาลตา-ยาย สถูปเจดีย์พระทองคำ และมูลเจดีย์ (มู-ละ-เจดีย์) หรือเจดีย์รากเหง้า โดยวันที่ 9 เมษายนของทุกๆปี ได้จัดงานประเพณีไทพวนบ้านหม้อ "บุญจ้างหนังให้ผีเบิ่ง" (บุญจ้างหนังให้ผีดู) เพื่อเป็นการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ และในวันออกพรรษา จะมีการจุดเทียนบนสะพานเดินชมต้นเปือย 1,511 เล่ม ตามชื่อหนังเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเฉลิมฉลองวาระที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดหนองคาย อีกด้วย