วันนี้ 9 ส.ค. 2561 ที่ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
(ศป.ปส.) อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย นายสุชาติ ทีคะสุข ร้องผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รับฝังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานตามแผนดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่
ประจำปี 2561 ของ ศป.ปส.อ.สังคม โดยมี น.ส.ศิริกัลยา
กิจรักษา นายอำเภอสังคม และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ พร้อมรายงานผลการดำเนินงาน
ปัญหาและอุปสรรค และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้คณะตรวจติดตามรับทราบ
อำเภอสังคม มีเนื้อที่ประมาณ
444 ตารางกิโลเมตร มีระยะทางห่างจากจังหวัดหนองคาย 95 กิโลเมตร
แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 36 หมู่บ้าน
มีพื้นที่ติดชายแดน 4 ตำบล 15 หมู่บ้าน
ได้แก่ ตำบลผาตั้ง ตำบลแก้งไก่ ตำบลสังคม และตำบลบ้านม่วง ระยะทางตลอดแนวชายแดน 45
กิโลเมตร สถานการณ์ในพื้นที่ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลักลอบนำเข้ายาเสพติด
เนื่องจากสภาพแวดล้อมแนวพื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นป่าและเป็นพื้นที่การเกษตรของประชาชน เอื้ออำนวยแก่การเข้ามาของยาเสพติดเข้าพื้นที่ตอนในอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เฝ้าระวังในการนำเข้ายาเสพติด จำนวน 10,000
เม็ดขึ้นไป ได้แก่ หลักกิโลที่ 77-79 ถนนทางหลวงแผ่นดิน
211 เส้นทางอำเภอสังคม-อำเภอศรีเชียงใหม่ หมู่ที่ 2 บ้านปากโสม ตำบลผาตั้ง
พื้นที่เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติด
คือ หมู่ที่ 5 บ้านน้ำไพร ตำบลสังคม และหมู่ที่ 2 บ้านปากโสม ตำบลผาตั้ง กม. ที่ 76, 77, 78 และพื้นที่เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
คือ บ้านม่วง ตำบลบ้านม่วง และหมู่ที่ 2 บ้านปากโสม ตำบลผาตั้ง กม. ที่ 76,
77, 78 โดยชนิดยาเสพติดที่มีการนำเข้า
มีทั้งยาบ้า กัญชา เฮโรอีน ชนิดยาเสพติดที่มีการค้าและแพร่ระบาดในพื้นที่
คือ ยาบ้า กัญชาแห้ง และไอซ์ โดยมีราคายาเสพติดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แยกเป็นราคาขายกัญชาในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน 3,000-3,500 บาท/กิโลกรัม
กัญชาผง 3,000 บาท/กิโลกรัม
และราคาขายกัญชาแห้งในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ 7,000-12,000 บาท
ที่ผ่านมา อำเภอสังคมได้บูรณาการทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ฝ่ายปกครอง ตำรวจ นรข.
ทหาร อปท.และ อสม. ได้ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลไกของคณะกรรมการกองทุนแม่ของแผ่นดิน
คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ด้วยการสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด
มีการประชาคมค้นหาผู้เสพ/ผู้ติด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
รวมทั้งติดตามหลังผ่านการบำบัดและให้ความช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ
มีการควบคุมดูแลไม่ให้มีแหล่งมั่วสุมในพื้นที่ การจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
(ชรบ.) ในการออกตรวจเวรยาม ป้องกัน เฝ้าระวัง ปัญหายาเสพติด จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด
จัดแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติด
และส่งเสริมลานกีฬาให้เยาวชนใช้เวลาว่างร่วมกันให้เกิดประโยชน์
อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ประนีประนอมข้อพิพาทของประชาชน
เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งปัจจุบันสามารถลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติดได้.