วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มอบสัญญาเงินกู้กว่า 3.956 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค อ.เมืองหนองคาย ในโครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ

วันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่  ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 4 ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นายอำไพ ประเสริฐสังข์ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาค้ำประกันเงินทุนกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค ได้ขอรับสนับสนุนเงินกู้ยืมในวงเงิน 3,956,670 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในการทำบ่อผ้าใบ และติดตั้งอุปกรณ์ให้อากาศ  จัดซื้อปลาดุก จัดซื้ออาหารเมล็ดและวัสดุอื่นๆ ในโครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ โดยมี นายทองพูน สมสา ประธานวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค, นายสุวพิษ ศรีวงษ์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ และนางสาวไพรินทร์ ผลตระกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พร้อมเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตปลาดุกให้มากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค



ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญชองจังหวัดหนองคาย ซึ่งผู้บริโภคนิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจและนิยมเลี้ยง ทั้งในบ่อดิน และในกระชัง ทั้งนี้ในช่วงหน้าแล้งที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยง ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน  สมาชิกกลุ่มได้ศึกษารายละเอียดรูปแบบการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ โดยได้รับคำแนะนำจากประมงอำเภอเมืองหนองคาย  ได้นำกลุ่มผู้สนใจเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ไปศึกษาดูงานที่บ่อเลี้ยงปลาดุกของ นายกฤช มิคาระเศรษฐเหมาะรักษ์  เจ้าของฟาร์มปลาดุกหนองคาย โดยนำคณะเยี่ยมชมฟาร์ม  และให้คำแนะนำการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ร่วมกับการนำระบบการเลี้ยงจุรินทรีย์ไบโอฟลอคมาใช้ (Biofloc) ในการบำบัดน้ำให้มีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งในการเบีลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใย ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน สามารถจับขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท เลี้ยงได้ 3 รอบต่อปี  จึงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงสร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีตลาดรองรับที่แน่นอน 



โดยวิสาหกิจฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการค้าและการจัดการฟาร์ม กับกลุ่มปลาดุกหนองคาย ซึ่งบริหารจัดการด้านการตลาด และส่งผลผลิตยังพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตลาด สปป.ลาว จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างความมั่นคงจากอาชีพเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ  ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีความสนใจในการเลี้ยงปลาคุกรูปแบบดังกล่าวต่อไป



นางสาวไพรินทร์ ผลตระกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กล่าวว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นกองทุนภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิต การจำหน่าย การพยุงราคา การวิจัยและการดำเนินงานที่จำเป็นเร่งด่วนให้กับองค์กรด้านการเกษตรหรือหน่วยงานของรัฐ โดยเปิดให้จัดทำโครงการเพื่อขอกู้เงินช่วยเหลือในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 0-2 และมีกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ 3-7 ปี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และประเภทของโครงการที่ยื่นขอกู้ขององค์กรด้านการเกษตรและส่วนราชการต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรที่ขาดเงินลงทุน และมีปัญหาในเรื่องหลักประกัน สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้นและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินปกติ โดยทางวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค ได้ทำสัญญาเงินกู้ 5 ปี วงเงิน 3,956,670 บาท ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ต้องมีลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งการลงนามในสัญญาค้ำประกันในครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนของกองทุนฯ ก่อนที่จะดำเนินขั้นตอนการเบิกจ่ายต่อไป






วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จ.หนองคาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบป่าต้นน้ำในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าว-ป่าแก้งไก่ หลังมีขบวนการลักลอบต้ดไม้ไผ่(ไผ่ข้าวหลาม) ยังพบร่องรอยลักลอบตัดต่อเนื่อง

วันที่ 28 พ.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดหนองคาย พร้อมกับหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สังคม และอาสาพิทักษ์ป่าบ้านห้วยหินขาว ร่วมกันออกตรวจพิสูจน์ทราบพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ถาวร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าว-ป่าแก้งไก่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีพื้นที่กว่า 3,025 ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อ.โพธิ์ตาก, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.สังคม จ.หนองคาย และ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเกิดน้ำซับ เกิดเป็นซำ เป็นลำห้วยหลายสาย โดยเฉพาะ"ห้วยเซียง" ท้องที่บ้านดอนขนุน หมู่ 5 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย เนื่องจากมีกลุ่มบุคคล ขึ้นไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะต้นไผ่ข้าวหลามเป็นบริเวณกว้าง ห่างจากวัดดอนขนุน(ถ้ำฮ้าน) ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอโพธิ์ตาก ได้ทำการตรวจยึดไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก



ทั้งนี้ การลงสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง กิจกรรมงานพิทักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการผนึกกำลังป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  




พบว่ายังมีการลักลอบเข้าไปตัดต้นไผ่ข้าวหลามอย่างต่อเนื่อง และตัดซุกซ่อนไว้ในป่าและสวนยางพาราของชาวบ้าน และมีการลักลอบเข้ามาตัดในเวลากลางวัน ลักลอบขนในเวลากลางคืน ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะทำการลาดตระเวนป้องกันไม่ให้คนบุกรุกและลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำรายป่า พร้อมเตือนประชาชนเนื่องจากพื้นที่เป็นป่าต้นน้ำ จะมีน้ำจะไหลไปรวมกับห้วยทอนตอนบน ห้วยกาบแก้ว และห้วยไฮ  ผ่านพื้นที่อำเภอโพธิ์ตาก จ.หนองคาย ก่อนจะไหลลงลงไปรวมกับลำห้วยโมงที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แล้วไหลวกกลับมาที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง หากมีการบุกรุกและลักลอบตัดไม้ทำรายป่า เป็นการทำผิดกฎหมาย จะจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด










วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ประชาชนแห่ทำบุญไหว้หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ในวันพระใหญ่"วิสาขบูชา" ภายใต้มาตรการทำบุญวิถีชีวิตใหม่ วิถีชาวพุทธยุคโควิด-19

วันที่ 26 พ.ค. 2564 บรรยากาศการเดินทางมาทำบุญที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ที่มีหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนสองฝั่งแม่น้ำโขงไทย-ลาว ที่ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร ได้มีประชาชนเดินทางมาต่อแถวเรียงคิว เพื่อที่จะรอวัดอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อจะเข้าไปในวิหารทำบุญกราบไหว้ขอพรจากองค์หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ  อีกทั้งวันนี้ยังตรงกับวันพระใหญ่ “วิสาขบูชา” ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง พาครอบครัวมาทำบุญกันจำนวนมาก ภายใต้มาตรการทำบุญวิถีชีวิตใหม่ วิถีชาวพุทธยุคโควิด-19



โดยทางวัดมีการตั้งจุดวัดอุณภูมิร่างกาย ทำการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกรายที่จะเดินผ่านเข้าไปยังภายในวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ทั้งด้านขาเข้าและขาออก มีการลงทะเบียนและสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จึงทำให้มีประชาชนที่มาต่อแถวเรียงคิวยืนรอกันอยู่ยังด้านนอกวิหารนานกว่าปกติ ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งวัน


















จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...