วันที่ 13 ก.ค.2564 นายสำรวจ ใจซื่อ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สังคม, ร้อยโท เลิศฤทธิ์ ประดิษด้วง รองหัวหน้าประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดหนองคาย พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สังคม, เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดหนองคาย, เจ้าหน้าที่หมู่สารวัตรทหาร มนฑลทหารบก ที่ 24 สนับสนุน กอ.รมน.จังหวัดหนองคาย , อาสาพิทักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยหินขาว ร่วมลงพื้นที่สอบแนวเขตป่าชุมชนบ้านห้วยหินขาว หมู่ที่ 6 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย มีพื้นที่ 500 ไร่ ฝั่งติดกับน้ำตกห้วยหินขาว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าวและป่าแก้งไก่
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าที่ดินบางแปลงยังคงเป็นสภาพป่า แต่ที่ดินบางแปลงก็มีผู้บุกรุกเข้ามาถือครองที่ดินปลูกพืชผลทางการเกษตร ทั้งไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด และกล้วยน้ำว้า จำนวน 6 แปลง กว่า 10 ไร่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้ตรวจค่าพิกัดแนวเขตที่ดิน พร้อมกับปักหมุดแนวเขตป่าชุมชนฯ ซึ่งขณะนั้นได้มีนายวิลัย ชัยชนะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก พร้อมชาวบ้านออกมาชี้แนวเขตที่ทำกิน โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านได้ทำกินตั้งแต่สมัยพ่อแม่ และได้นำหลักฐานการเสียภาษีดอกหญ้าให้กับ อบต.ด่านศรีสุข มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ แต่ขาดส่งตั้งแต่ปี 2548 เจ้าหน้าที่จึงขี้แจงกับชาวบ้านเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 โดยให้เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ชาวบ้านยังยืนยันในการอ้างสิทธิในการทำกินในพื้นที่ป่าแห่งนี้มานาน
เจ้าหน้าที่จึงหาทางออกทั้งสองฝ่าย โดยจะให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) นำแผนที่แนวป่าชุมชนมาสำรวจ ท่าพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสีเขียวก่อนปี พ.ศ.2560 ถือว่าเป็นพื้นที่ป่าชุมชน แต่ท่ามีการเข้าไปครอบครองแพ่วถางป่าหลังปี พ.ศ.2560 ถือว่าเป็นการบุกรุก เจ้าหน้าที่จะทำการปิดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ถ้าหากยังดื้อดึง ดื้อรั้นที่จะยึดถือครอบครอง ทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินคดีตามกฏหมายป่าไม้ในฐานยึดถือครอบครองในพื้นที่ป่าที่ไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฏหมายที่ดิน หากชาวบ้านที่เข้ามาถือครองอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ให้นำเอกสารสิทธิ์หรือหลักฐานต่างๆ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ช่วงที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) มาสำรวจ