วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯหนองคาย รุดตรวจหลังฝนกระหน่ำหลายวัน น้ำป่าจากลำห้วยทอนไหลซัดถนนบ้านสาวแลขาดซ้ำที่เดิมในรอบ 3 ปี ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนต้องใช้เส้นทางเลี่ยงในการสัญจรไปไร่ไปสวน ขณะที่ท้องถิ่นเตรียมสร้างเป็นบล็อกคอนเวิร์สมาทดแทนการใช้ท่อกลม เพื่อแก้ไขปัญหา

วันที่ 4 ต.ค. 2565 นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายสมพร สีดา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย , นายยรรยง พรมศร นายอำเภอโพธิ์ตาก, นายสมคิด ลังกา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก และเจ้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่จุดถนนทางหลวงชนบทขาด ช่วงทางเข้าบ้านสาวแล หมู่ที่ 4 ต.โพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย หลังจากมีฝนตกหนักติดต่อกันมาหลายวันก่อนหน้านี้ ทำให้น้ำป่าไหลทะลักลงมาจนถึงลำห้วยทอนมีจำนวนมาก ความแรงของกระแสน้ำจึงกระแทกและกัดเซาะถนนจนขาด ชาวบ้านในหมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 6 ต.โพธิ์ตาก กว่า 100 หลังคาเรือนต่างได้รับความเดือดร้อน ต้องอ้อมไปใช้ถนนสายรองในการสัญจรไปไร่ไปสวน และไปติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอโพธิ์ตาก รวมทั้งเดินทางไปบ้านศูนย์กลาง ต. ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก เป็นการชั่วคราว 



ทั้งนี้จุดที่ถูกน้ำป่ากระแทกและกัดเซาะถนนจนขาด เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ทำให้ถนนขาดเป็นระยะทางกว่า 10 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร แต่ครั้งนี้หนักกว่าเดิม ถูกน้ำกัดเซาะพัดถนนขาดเป็นระยะทางกว่า 17 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร และมวลน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกว่า 1,000 ไร่ รวม 7 หมู่บ้าน



เบื่องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่ได้รับความเสียหาย พบว่าน้ำได้เริ่มลดระดับลง และปภ.หนองคาย จะได้ประสานไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 14 อุดรธานี เร่งนำสะพานแบริ่งมาติดตั้งให้กับชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาชั่วคราว  ซึ่งถนนทางหลวงชนบทดังกล่าว ได้ยกให้กับท้องถิ่นรับผิดชอบดูแลแล้ว โดย อบต.โพธิ์ตาก จะมีการปรึกษาปภ.หนองคาย ในการออกแบบสร้างบล็อกคอนเวิร์สมาทดแทนการใช้ท่อกลม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป










วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ชาวพุทธสืบสานบุญมหาสังฆทานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปี 2565 มีผู้ใจบุญแจกทานครั้งใหญ่ ตามประเพณีของภาคอีสาน

วันที่ 1 ต.ค.2565 ที่ ศาลาการเปรียญวัดแก้วพิจิตร บ้านท่าบ่อ หมู่ 9 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย คณะกรรมการชุมชนวัดแก้วพิจิตร ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้มีจิตศรัทธา และชุมชนโดยรอบ ร่วมทำบุญใหญ่ "พิธีถวายมหาสังฆทานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา" ประจำปี 2565 มีกิจกรรมเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตร และถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ โดยมีพระครูรัตนสราภิรม เจ้าคณะตำบลท่าบ่อ เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ รับมหาสังฆทาน




สำหรับงานบุญถวายมหาสังฆทานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ถือเป็นการบำรุงพุทธศาสนาที่ได้ส่งเสริมให้ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ดี อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ตลอดทั้งยังได้รักษาจารีตประเพณีในระยะที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษานี้ จะจัดมหาสังฆทานกันขึ้นตามประเพณีของภาคอีสาน ซึ่งได้บุญได้กุศลและสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่มาร่วมบุญ ทั้งได้รับของแจกทาน และยังได้บริจาคปัจจัยถวายวัดแก้วพิจิตร เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุให้อยู่สวยสง่างามตลอดไป
















วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

ชาวบ้านรวมตัวกันกวนข้าวปาด ขนมพื้นบ้านโบราณที่หารับประทานได้ยาก เพื่อแจกฟรีในงานบุญสังฆทานวัดแก้วพิจิตร

วันที่ 30 ก.ย.2565 ที่บริเวณวัดแก้วพิจิตร บ้านท่าบ่อ หมู่ 9 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ พื้นที่ข้างเคียง และพระลูกวัด  รวมตัวช่วยกันกวนข้าวปาด ที่เป็นขนมพื้นบ้านโบราณในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานบุญสังฆทานของวัดแก้วพิจิตรในทุกๆ ปี จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีการทำขนมปาดโบราณเอาไว้ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนอีกด้วย




โดยงานบุญสังฆทานวัดแก้วพิจิตรนั้นจะจัดขึ้น 2 วัน ซึ่งวันแรกจะเป็นวันรวมตัวกันกวนข้าวปาดโบราณ หรือเรียกว่า"วันตั้ง" ซึ่งชาวบ้านจะมีวิธีการพลัดเปลี่ยนกันด้วยการใช้พายที่เป็นไม้พาย อุปกรณ์หาได้ง่ายทำจากกิ่งไม้สดสีเขียวของต้นมะพร้าว ช่วยกันคนและก็ปาดขนมในกระทะสลับหมุนเวียนกันไป ส่วนวิธีทำขนมปาดโบราณนั้น ซึ่งเป็นขนมไทยพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวอีสาน ที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า จากนั้นนำมานวดกับน้ำหางกะทิ เมื่อนวดเข้ากันแล้วนำหัวกะทิเติมผสมให้กัน แล้วนำไปกวนในกระทะประมาณ 1 ชั่วโมง จึงผสมเข้ากับน้ำใบเตย และน้ำตาลทรายแดง  กวนให้เข้ากันจนสุกในกระทะที่เป็นเตาฟืน เพราะว่าจะได้มีกลิ่นหอม ก็จะออกมาเป็นสีเขียวสวยงาม ตามธรรมชาติซึ่งได้จากใบเตย เมื่อสุกได้ที่ก็จะพากันหาภาชนะไปใส่ พักไว้สักหน่อยก็จะใช้มีดตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก ๆ แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง เพื่อเตรียมที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญสังฆทานของวัดฯในวันถัดมาตามประเพณีในท้องถิ่น



ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มาช่วยกันทำงานจะได้อานิสงส์ผลบุญไปตาม ๆ กันด้วยขนมข้าวปาดจำเป็นต้องอาศัยแรงคนในลักษณะเป็นการลงแขกช่วยกัน ทำให้เห็นภาพของการช่วยเหลือเกื้อกูล และมิตรภาพที่ดีต่อกันของผู้คนที่ปรากฏขึ้นภายในชุมชนแห่งนี้ และยังจัดได้ว่าเป็นขนมไทยโบราณแบบดั้งเดิมที่หารับประทานได้ยากอีกด้วย 











จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...