วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

พ่อเมืองศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นำจิตอาสาพระราชทานทาสีบ้านให้กับครัวเรือนยากจน

นอภ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการอย่างยั่งยืน นำจิตอาสาพระราชทานทาสีบ้านให้กับครัวเรือนยากจน ตามโครงการ "บ้านกาชาดสร้างสุข จังหวัดหนองคาย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


วันที่ 5 ก ย. 2566 เวลา 13.00 น. ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี นายอำเภอศรีเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพิทยา ชำนาญ ปลัดอาวุโสฯ หัวหน้าส่วน ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล จิตอาสา”เราทำความดี ด้วยหัวใจ”อำเภอศรีเชียงใหม่ และประชาชนจิตอาสา ได้ขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข บูรณาการอย่างยั่งยืน โดยร่วมกันทาสีบ้านครอบครัวยากจนตามที่ได้รับการช่วยเหลือในการก่อสร้างบ้านและที่อยู่อาศัย จากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหนองคาย  ตามโครงการ "บ้านกาชาดสร้างสุข จังหวัดหนองคาย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา ประจำปี 2566 ครอบครัวนายทองสุข  เบ้านำโฮง อายุ 64 ปี ที่อยู่ 28 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองปลาปาก




ทั้งนี้อำเภอศรีเชียงใหม่ มีประชาชนที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน  3 ราย ประกอบด้วย 1.ครอบครัวนางสาคร บุตรสี อายุ 77 ปี ที่อยู่ 40/2  บ้านพานพร้าว หมู่ที่ 10 ตำบลพานพร้าว  , 2.ครอบครัวนางประยูร เทพธิดา อายุ 76 ปี ที่อยู่ 35  บ้านโนนสง่า หมู่ที่ 15 ตำบลพานพร้าว และ 3.ครอบครัวนายทองสุข  เบ้านำโฮง อายุ 64 ปี ที่อยู่ 28 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 2 ตำบลหนองปลาปาก  โดย ศจพ.อ.ศรีเชียงใหม่ ได้ดำเนินการสร้าง/ซ่อมแซมบ้านให้กับครัวเรือนยากจนทั้ง 3 หลัง เสร็จเรียบร้อยทุกครัวเรือนแล้ว 100 เปอร์เซ็น โดยจะมีพิธีมอบบ้านทั้ง 3 หลัง อย่างเป็นทางการอีกต่อไป


















วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2566

ผู้ใหญ่บ้านในหนองคาย พาลูกบ้านปลูกดาวเรืองส่งดอกขาย ลงทุนน้อย เป็นที่ต้องการของตลาด

ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มไฟแรง พาลูกบ้านปลูกดาวเรืองส่งดอกขาย ลงทุนน้อยสร้างรายได้งามวันละไม่ต่ำกว่า 700 บาท ด้วยประสบการณ์ 7 ปี มีฐานลูกค้ารองรับทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด อนาคตหวังสนับสนุนให้ปลูกทุกครัวเรือน เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของหมู่บ้านและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชมดอกดาวเรือง ตามแนวทางหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน


วันที่ 4 ก.ย. 2566 นายชัยยา เสียวสุข อายุ 44 ปี ผู้ใหญ่บ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 4 ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และลูกบ้านกำลังทำการเก็บผลผลิตดอกดาวเรืองที่ปลูกไว้ในพื้นที่ประมาณ 1 งาน ริมถนนหลวงชนบท สายศรีเชียงใหม่-บ้านผือ ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนบ้านนาโพธิ์ ของนางวาน เพ็งแจ่ม อายุ 67 ปี ส่งขายลูกค้าที่ติดต่อสั่งซื้อมา หลังจากที่ใช้เวลาในการปลูกดอกดาวเรืองเพียงประมาณ 2 เดือน ก็สามารถออกดอกที่บานสะพรั่ง มีความสมบูรณ์สวยงาม และมีดอกที่มีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ อีกทั้งนางวานผึ้งลงมือปลูกเป็นครั้งแรกหลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านชักชวนให้ปลูก มีตลาดรองรับ



ผู้ใหญ่ชัยยา กล่าวว่า  เริ่มแรกตนได้ทดลองปลูกดาวเรือง 250 ต้นที่บ้าน ลงทุนไม่มากแต่ได้กำไรเกินคาด เช่น เราลงทุนไป 1,500 บาท ได้กำไรเกือบหมื่น โดยจะสั่งพันธุ์ดาวเรืองจากเกษตรกรในกลุ่มไลน์ผู้ปลูกดาวเรือง ต้นละ 1.50 บาท เป็นสายพันธุ์ร็อคโค่เรนนี่ 002  ซึ่งปลูกได้ประมาณ 45 วัน นับจากที่ลงดินปลูกก็จะเริ่มออกดอก แต่ยังไม่เต็มดอก พอปลูกได้ 2 เดือน ดาวเรืองก็ออกดอกอย่างเต็มที่และก็สามารถเก็บดอกดาวเรืองขายให้ลูกค้าได้  ซึ่งดาวเรืองจะใช้เวลา 3-4 วันถึงตัดดอกขาย ส่วนการปลูก เช่นมีที่อยู่ 1 งาน จะใช้เบี้ยปลูกประมาณ 2,400 ต้น ผลผลิตที่ขายได้ก็น่าภูมิใจ ผลตอบรับมาดีจึงได้ชวนลูกบ้านปลูก ใครสนใจก็จะช่วยปลูกพร้อมคอยเป็นพี่เลี้ยงในการบำรุงรักษา ซึ่งก็ได้ผลดีจากการที่ได้มาติดตามลูกบ้านที่ปลูกดาวเรืองและไปได้สวย เป็นอาชีพเสริมที่ดีหลังจากทำไร่ทำนา



ผู้ใหญ่ชัยยัน กล่าวอีกว่า ด้วยประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 7 ปี ทำให้ตนมีฐานลูกค้าที่จะส่งหลายพื้นที่ แต่ตลาดหลักก็จะอยู่ในพื้นที่ซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็จะมีสั่งมาเหมือนกัน ทางเราก็จะบรรจุดอกดาวเรืองใส่กล่องแพ็คส่งทางเคอรี่ ซึ่งลูกค้าก็จะมีอุดรธานี ขอนแก่น สระบุรี นครราชสีมา และตลาดใหญ่ๆ ใน กทม. เช่น ตลาดดอกไม้สดปากคลองตลาด มีความต้องการสูงเป็นแสนๆ ดอก ส่วนการเก็บผลผลิตหลังจากเริ่มต้นเก็บดาวเรืองที่ดอกโตเต็มที่แล้ว 2 เดือน ก็สามารถเก็บไปเลื่อยๆ ได้อีก 5 เดือน แต่ท่าบำรุงดีๆ ก็จะเก็บได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งเวลาเก็บผลผลิตดอกดาวเรืองก็จะแตกดอกขึ้นมาอีกประมาณ 5 เดือน หลังจากนั้นก็จะโรยหมดสภาพ แล้วพักหน้าดินไว้ 2 สัปดาห์ก็เริ่มปลูกใหม่เป็นชุดๆ ไปเพื่อไม่ใหัขาดตลาด




โดยลูกค้าที่สั่งดาวเรืองนั้นจะสั่งเป็นขนาด เช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 - 4 เซนติเมตร จะขายหน้าสวน 100 ดอก/40 - 50 บาท แต่ท่าส่งลูกค้าต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 100 ดอก/50 - 60 บาท ส่วนดอกใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 - 7 เซนติเมตร ขายหน้าสวน 100 ดอก/ 50 บาท ส่งลูกค้าต่างจังหวัดก็จะอยู่ที่ 100 ดอก/ 70 บาท  และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 - 8 เซนติเมตร  หน้าสวนก็จะขายอยู่ที่ 100 ดอก/ 70 บาท ก็แล้วแต่ช่วงเพราะราคาดอกไม้มีขึ้นมีลง ช่วงนี้หน้าฝนราคาดีเพราะไม่ค่อยมีใครปลูกเนื่องจากดูแลยาก ช่วงหน้าหนาวชาวบ้านว่างจากการทำไร่ทำนาก็จะมีคนปลูกเยอะ มันก็จะอีกราคาหนึ่ง




ผู้ใหญ่ชัยยัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมอยู่ 4 ครอบครัว 4 แปลง อยู่ที่ประมาณ 2-3 ไร่  โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งก่อนวันพระ 2 วัน ซึ่งเป็นลูกค้าในพื้นที่เพื่อจะนำไปร้อยพวงมาลัย โดยจะเก็บได้อยู่ประมาณ 7,000 - 8,000 ดอก รายได้ก็จะประมาณ 3,000 - 3,500 บาท/ 4 วัน เฉลี่ยก็ประมาณ 700 - 800 บาท/วัน มีทั้งไปส่งถึงที่และมารับถึงหน้าสวน  ซึ่งขณะนี้ผลผลิตเริ่มทยอยออกดอกและมีความสวยงาม ในการปลูกดอกดาวเรืองนี้ถือว่าสามารถสร้างรายได้ให้ลูกบ้านหลังจากว่างจากการทำไร่ทำนาเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เก็บขายแทบไม่ทันเลย การเก็บผลผลิตรอบแรกก็ได้ทุนคืนแล้ว ที่เหลือก็คือกำไร 



อนาคตก็จะชักชวนลูกบ้านปลูกดาวเรืองเพิ่มอีก ท่าเป็นไปได้ก็อยากให้ปลูกทุกหลังคาเรือน เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของหมู่บ้าน เป็นพืชไม้ดอกไม้ประดับอย่างดอกดาวเรือง ให้เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมากที่สุดของตำบล อำเภอ และเปิดให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเดินทางมาถ่ายรูปด้วย ซึ่งตนนั้นมุ่งเน้นแนวทางหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนมีรายได้เสริมอีกด้วย






วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566

20 ปีที่รอคอย "น้องท็อป อารียา" คนไร้สัญชาติสู้ชีวิตจนเรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล สุดดีใจได้บัตรประชาชนแล้ว

"น้องท็อป อารียา" คนไร้สัญชาติสู้ชีวิตจนเรียนจบวิศวกรรมเครื่องกล ม.ราชภัฏอุดรธานี ได้รับสัญชาติไทยพร้อมมีบัตรประชาชน และเป็นคนที่ 2 ของจังหวัดหนองคาย เผยสุดดีใจได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว หลังรอคอยกว่า 20 ปี ต่อไปนี้จะได้หางานทำตรงตามวุฒิที่เรียนจบมา


วันที่ 1 ก.ย. 2566 ที่ ห้องประชุมวรลาโภชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี นายอำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบบัตรประจำตัวระชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ให้แก่นางสาวอารียา หนองสูง หรือท็อป อายุ 24 ปี ซึ่งศึกษาจบปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพื่อโอกาสในการทำงาน โดยได้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และจะยึดมั่นใน 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยมี นายปฐมพงษ์ ทองวิธิ ปลัดอำเภองานทะเบียนอำเภอศรีเชียงใหม่ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายพิทยา ชำนาญเนียม ปลัดอาวุโสฯ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนปลัดจังหวัดหนองคาย ผู้ใหญ่บ้าน มารดา และญาติพี่น้อง เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธี





ทั้งนี้นางสาวอารียา  หนองสูง เป็นบุตรของคนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานาน ซึ่งครอบคลุมชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้เดิมรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งสำนักทะเบียนอำเภอศรีเชียงใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักฐาน และพยานบุคคลแล้วพบว่า นางสาวอารียา หนองสูง มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าเกณฑ์การขอมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสองฯ และสำนักทะเบียนอำเภอศรีเชียงใหม่ ได้รวบรวมหลักฐานเอกสาร คำขอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พิจารณาอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยแก่ผู้ยื่นคำขอ




และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้อนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทย ต่อมาสำนักทะเบียนกลางได้มีหนังสือที่ มท 1309.8/2048 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2566 เรื่อง การกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ให้แก่ผู้ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสองฯ แจ้งนายทะเบียนอำเภอศรีเชียงใหม่ว่า สำนักทะเบียนกลางได้กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคล  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้อนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยให้แก่ผู้ขอราย นางสาวอารียา หนองสูง เป็นผู้มีสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) สำนักทะเบียนอำเภอศรีเชียงใหม่ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อ นางสาวอารียา หนองสูง เข้าในทะเบียนบ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 5 ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับบุคคลดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 และยังเป็นบุคคลที่ 2 ของจังหวัดหนองคาย ที่ได้รับสัญชาติไทย



น้องท็อป กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกดีใจเพราะรอมานานถึง 20 ปี วันนี้ได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทำอะไรไม่สะดวก เพราะว่าเราไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ จะเรียนต่อก็ต้องให้ ผอ.โรงเรียนทำหนังสือฝากเข้าเรียน สิทธิทางสังคมก็ไม่ได้เหมือนคนอื่นเขา รวมทั้งทุนการศึกษา ต้องทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียนให้จบ ป.ตรี ใช้ชีวิตก็ลำบาก แค่อยากทำงานพาร์ทไทม์บางทีก็ทำไม่ได้เพราะว่าไม่มีเอกสารอะไร  งานที่ได้ทำก็ต้องหนักกว่าคนอื่น ซึ่งตอนนี้มีงานทำแล้วแต่ไม่ตรงกับสายงานที่ได้เรียนจบมา แต่ต่อไปนี้หลังที่ได้บัตรประชนแล้วก็จะไปสมัครงานที่ได้เรียนมาโดยตรง



ทางด้านนางสาวสมศรี จันดาหาร  อายุ 57 ปี เพื่อนบ้านที่ดูแลน้องท็อปมาตั้งแต่ยังเล็กๆ กล่าวว่า น้องท็อปเป็นคนนิสัยดี บอกง่ายสอนง่าย ซึ่งได้เลี้ยงคู่กับลูกสาวตนมาตั้งแต่ยังเล็กๆ จนโตมาด้วยกัน อยากให้ทำบัตรเพราะแม่ของน้องท็อปไม่มีหลักฐานอะไร เพราะตนมาช้าตอนที่คลอดน้องท็อป เลยต้องเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติ  น้องท็อปเป็นคนนิสัยดี ขยัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  และตั้งใจเรียนได้เกรดอันดับ 1 ตลอด ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 จะขอทุนอะไรก็ไม่ได้ต้องหาเงินเรียนอย่างเดียว เพราะทางครอบครัวก็ไม่มีอะไรช่วยเหลือได้ ต้องสู้หารายได้อย่างเดียว สู้ขีวิตสุดๆ รับจ้างอะไรได้ก็ต้องทำไป ดีใจมากที่คนที่เราเลี้ยงได้มายืนอยู่จุดนี้ ก็ไม่คิดว่าได้มีวันนี้ ดีใจมาก ดีใจสุดๆ





จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...