วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565

อำเภอสังคม จ.หนองคาย ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ จัดงานเทศกาลกล้วยน้ำว้า ประจำปี 2565 เพื่อรักษาสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ "กล้วย" ของอำเภอสังคมให้คงอยู่

วันที่ 27 ธ.ค.2565 ที่ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม จ.หนองคาย  นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงานเทศกาลกล้วยน้ำว้า ประจำปี 2565 ของอำเภอสังคมที่ได้กำหนดให้มีกิจกรรมขึ้น ประกอบด้วย การจัดขบวนแห่ประดับตกแต่งจากล้วยและผลิตผลทางการเกษตรทุกตำบล จำนวน 5 ขบวน , การแข่งขันเซียนกล้วยอำเภอสังคม , การประกวดตำกล้วยลีลา , การประกวดการประดิษฐ์ตกแต่งจากกล้วย , การจัดซุ้มนิทรรศการแสดงผลผลิตจากกล้วย ผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากกล้วย ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร และการเดินแบบผ้าไทยพื้นเมือง





โดยเฉพาะการแข่งขันที่สร้างสีสันความสนุกสนาน ก็คือการแข่งขันเซียนกล้วยอำเภอสังคม ซึ่งแต่ละท้องถิ่นในพื้นที่ ได้ส่งทีมเข้าแข่งรวมทั้งสิ้น 5 ทีมๆ ละ 4 คน โดยคนแรกจะเป็นเซียนเตะต้นกล้วย  คนที่ 2 เซียนตัดเครือกล้วย คนที่ 3 เซียนตัดใบตอง และคนที่ 4 เซียนปลอกกล้วย ซึ่งแต่ละทีมต่างส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะเซียนเตะต้นกล้วย ยังไม่ได้แข่งก็เสียงหัวเราะให้กับกองเชืยร์และประชาชนที่มาร่วมชมการแข่งขันเป็นอย่างมาก ก่อนเริ่มการแข่งก็ได้ให้ผู้เข้าแข่งขันโชว์ลีลาร่ายรำไหว้ครูมวยไทย พอเริ่มการแข่งขัน แต่ละคนต่างก็ใช้ทักษะแม่ไม้มวยไทย ทั้งเข่า ทั้งเตะต้นกล้วยอย่างไม่ยั้ง สร้างความครื้นเครงสนุกสนานให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก







นอกจากนี้ยังมีการแข่งขัน“ตำกล้วยลีลา” ที่สุดสนุก เต้นกันกระจาย ทั้ง 5 ทีม ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่  ที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ละทีมจะส่งคนได้ไม่เกิน 5 คน โดยต้องตำไปด้วยและเต้นไปด้วย  ซึ่งแต่ละทีมต่างก็จะพกความมั่นใจกันมาเกินร้อยทุกทีม พาสาก ครกใหญ่ นำมาจากที่บ้าน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และมีเคล็ดลับการตำกล้วยให้อร่อยเด็ดสุด และรสชาติ 3 รส จะต้องมีความกลมกลืนกัน พอเริ่มแข่งขันพร้อมเพลงประกอบ"สาวเต่างอย" เรียกเสียงปรบมือ ฮากันลั่น ทั้งชาวบ้านที่มามุงดูการแข่งขัน คณะกรรมการ รวมไปถึงหัวส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นที่มานั่งชมให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขันในครั้งนี้  โดยมีชาวบ้านที่มาให้กำลังใจส่งเสียงเชียร์ และเสียงหัวเราะกันดังลั่น อย่างสนุกสนาน ซึ่งผู้แข่งขันแกว่งสากแต่ละครั้ง น้ำปลาร้ากระจาย จนทำให้ผู้ชมต้องถอยห่าง เต้นไปกว่า 5 นาที การแข่งขันก็สิ้นสุดลง พร้อมกับหน้าตาที่สวยงามของตำกล้วยลีลา




นายสมควร ใจซื่อ นายอำเภอสังคม กล่าวว่า อำเภอสังคมเป็นพื้นที่ ที่มีการปลูกกล้วยน้ำว้ามากที่สุดของจังหวัดหนองคาย กล้วยน้ำว้าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้า GI เพื่อให้ได้รับผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยให้มีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่ารายได้ และคุณค่าทางด้านโภชนาการ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จนกลายเป็น "สัญลักษณ์" และ "อัตลักษณ์" ของอำเภอสังคมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกล้วยตากสังคม GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นสินค้าที่มี"อัตลักษณ์" และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ







สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่, กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ทั้งด้านงบประมาณและแรงกายแรงใจ เพื่อรักษาสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ "กล้วย" ของอำเภอสังคมให้คงอยู่ต่อไป



















วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2565

นักท่องเที่ยวแห่ขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติ และชมทะเลหมอกที่สวยงามบนภูหนอง อ.สังคม จ. หนองคาย แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย

วันที่ 26 ธ.ค. 2565 สถานการณ์อากาศหนาวในพื้นที่ จ.หนองคาย ที่จุดชมวิวทะเลหมอกภูหนอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต แม้ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาฯ โดยอุณหภูมิอยู่ที่ 11 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวยังคงพากันแห่ขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม ชมพระอาทิตย์ขึ้น ท่ามกลางทะเลหมอกที่ยังมีให้เห็นอย่างหนาแน่น ลอยอยู่เหนือแม่น้ำโขงสองฝั่งไทย-ลาว อย่างน่าประทับใจกับธรรมชาติที่สวยงามในช่วงฤดูหนาวนี้


สถานีอุตุนิยมวิทยา จ.หนองคาย รายงานว่า พยากรณ์อากาศบริเวณ จ.หนองคาย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-17 องศาเซลเซียส 







วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย ร่วมกับสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย และผู้แทนประชาชนชาวตำบลบ้านหม้อ จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินการแหล่งท่องเที่ยวดอนป่าเปือย

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ที่ บริเวณที่สาธารณะประโยชน์แหล่งท่องเที่ยวดอนป่าเปือย บ้านหม้อ หมู่ที่ 7 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย ร่วมกับสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย และผู้แทนประชาชนชาวตำบลบ้านหม้อ จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินการแหล่งท่องเที่ยวดอนป่าเปือย นำโดยนายเกรียงศักดิ์  ถวายชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย นายพิทยา ชำนาญเนียม ปลัดอาวุโสอำเภอศรีเชียงใหม่ นายพงษ์พิพัฒน์ สุรขันธ์ นายกสมาคมวิทยุกระจายเสียงและสื่อสารมวลชนจังหวัดหนองคาย นายภุชงค์ ชานันโท นายกเทศมนตรีตำบลศรีเชียงใหม่ นายอภินันท์ อุตมะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ นายสนอง เข็มพรมมา ประธานไทยพวนบ้านหม้อ พร้อมด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เข้าร่วมประชุม







สำหรับการประชุมครั้งนี้ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวดอนป่าเปือย ซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ เป็นป่าธรรมชาติที่สวยงามมีต้นเปือยมากกว่า 50 ต้น และมีต้นเปือยใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีเส้นรอบวง 4.40 เมตร และป่าเปือยแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อ  ปี พ.ศ. 2544 สิ่งสำคัญที่สุดในป่าเปือยแห่งนี้ เคยเป็นป่าช้าของคนไทพวนบ้านหม้อมาเป็นร้อยปี ในส่วนการสร้างสะพานนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพานเหล็ก เรียกว่า “สะพานไปสู่สวรรค์” เพื่อเดินเข้าไปชมต้นเปือยทุกต้นในป่าธรรมชาติแห่งนี้  ซึ่งสะพานที่สร้างมีความยาว 223 เมตร และจะดำเนินการก่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ ตามกำลังทรัพย์ของชาวบ้านที่มีความเชื่อและศรัทธา 




ในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่และ อบต.บ้านหม้อ ได้ร่วมกันส่งเสริมให้มีการพัฒนา และประชาสัมพันธ์ดอนป่าเปือยเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดอนป่าเปือย ป่าธรรมชาติที่มีต้นเปือยหลงเหลืออยู่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รักษาสืบทอดต่อไป



หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม คณะได้เดินขึ้นสะพานไปสู่สวรรค์ที่จัดสร้าง เพื่อชมต้นเปือยในดอนป่าเปือย ระยะทาง 223 เมตร  ซึ่งจะมีจุดถ่ายภาพ จุดไหว้พระทำบุญเพื่อสมทบทุนจัดสร้างสะพาน มีถ้ำร้อยเปือย ต้นนางพญาตาเปือย นอกจากนั้น ยังมีศาลตายายให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้าไปสักการะบูชาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย










จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...