วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567

หนองคายโขงแล้งหาดโพล่! ชาวบ้านปรับพื้นที่หาดริมโขงรับ นทท.เล่นน้ำคลายร้อนถึงสงกรานต์

ชาวศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ปรับพื้นที่ "หาดทรายทอง" ริมฝั่งโขงเป็นแหล่งรับ นทท.เล่นน้ำคลายร้อน ชมทัศนียภาพสองฝั่งโขง เตรียมเปิดให้เล่นน้ำคลายร้อนอย่างเป็นทางการ 24 มี.ค.ไปจนถึงสงกรานต์ 67


วันที่ 16 มี.ค. 2567 ที่ หาดทรายทองริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านหัวทราย หมู่ 11 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้มีผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่ ได้เตรียมพร้อมจัดร้านจัดซุ้มที่นั่งให้บริการ คาดจะมีประมาณกว่า 20 ร้านค้า เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเล่นน้ำคลายร้อนที่หาดแห่งนี้ โดยเตรียมเปิดหาดทรายทองรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคมไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567



นางสาวกองแก้ว น้อยนาง ผู้ใหญ่บ้านหัวทราย หมู่ 11 ต.พานพร้าว กล่าวว่า ในช่วงนี้ถึงแม้ระดับน้ำโขงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง บางจุดพบว่าระดับน้ำโขงเฉลี่ยต่ำสุดที่ระดับประมาณ 1-2 เมตร แต่ก็ยังมีบางพื้นที่มีระดับประมาณ 20-50 เซนติเมตร จึงต้องจำกัดพื้นที่เล่นน้ำเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการร้านค้าก็ลดลง จากที่เคยมีกว่า 100 ร้านค้า ก็เหลือ 20 กว่าร้านค้า อีกทั้งการหักเหของชายหาด จึงได้ทำการเปิดจุดระดับน้ำไม่ลึก ที่พื้นเป็นหินกรวดปนทราย น้ำใสสะอาดสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงธรรมชาติ รับประทานอาหารอร่อย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเมนูปลาน้ำโขง เครื่องดื่ม รวมถึงบริการเช่าอุปกรณ์เล่นน้ำคลายร้อน ซึ่งแต่ละปีหาดทรายทองแห่งนี้มีรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดวันละหลายแสนบาท เพราะนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนเล่นน้ำคลายร้อนจำนวนมาก สร้างรายได้ดียาวไปถึงช่วงหยุดยาวสงกรานต์



สำหรับหาดทรายทอง เป็นหาดทรายในแม่น้ำโขงที่ทอดยาวครอบคลุม 2 หมู่บ้าน เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้งเริ่มจากเดือนพฤศจิกายนน้ำเริ่มลดลง จึงสามารถมองเห็นหาดทรายได้กว้างไปถึงกลางแม่น้ำโขง และมีความยาวหาดทรายจากทิศเหนืออยู่ใกล้กับวัดชุมพล หมู่ 10 - ทิศใตัอยู่ใกล้กับวัดนางเขียวค้อม หมู่ 11 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร และชาวบ้านได้เรียกหาดทรายนี้ว่า "หาดทรายทอง" ตามลักษณะของผิวทรายที่ออกคล้ายสีทอง  รวมถึงหาดทรายแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปจับจองทำการเกษตร เข่น ปลูกมันแกว ถั่วลิสง  ข้าวโพดโรงงาน และพืชผักตามฤดูกาล แม้แต่ในช่วงฤดูฝนแม่น้ำโขงมีระดับน้ำสูงก็ยังมีพื้นบางส่วนยังทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปึ หากยืนอยู่บนหาดทรายทองก็จะสามารถมองเห็นชายฝั่งนครหลวงเวียงจันทน์ได้อย่างใกล้ชิด









วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

สภาเกษตรกรหนองคาย - สภาเกษตรกรสุพรรณบุรี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกษตรกรนำผลผลิตส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

สภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี  ในโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกร หวังแลกเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านหนองคายส่งขายยัง สปป.ลาว ขณะที่สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ทำรายได้วันละ 8-9 พันบาท และเป็นที่ต้องการของตลาดสูงจนผลิตไม่ทัน ลูกค้าทั้งโคราชและกรุงเทพฯยังสนใจติดต่อไปจำหน่าย


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 นางสาวฤดี พวงจำปา สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย  นายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยกลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดศรีเชียงใหม่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกป่าฝาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรได้ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยนายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรฯ ในโอกาสนำเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาทัศนศึกษาดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ หมู่ 1 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งในการนำสับปะรด GI มาแปรรูปเป็น ไวน์สับปะรด "ตำจอก" และสุราสับปะรด "ซมเซย" รวมทั้งน้ำสับปะรดสกัด 100 % แยมสับปะรด เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและทางการเกษตร จนเป็นที่ต้องการของตลาดสูงทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว



นายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า วันนี้ได้นำเกษตรกรจำนวน 90 ราย มาทัศนศึกษาดูงานจากสุพรรบุรีมาหนองคาย เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกรแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล แต่ละอำเภอว่ามีจุดเด่นอะไร ส่วนสุพรรณบุรีส่วนใหญ่ก็จะปลูกข้าวเป็นหลัก แต่องค์ความรู้ที่เกษตรกรยังเข้าไม่ถึงก็คือการที่จะเอาสินค้ามารวบรวมหรือขายออกสู่ตลาดยังแคบ เสมือนเป็นต้นน้ำที่จะส่งน้ำต่อให้ผู้บริโภคนั้นยังขาดในเรื่องนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนรู้กัน ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนถ่ายสินค้าซึ่งกันและกัน  อย่างเช่นสุพรรณบุรีผลิตสินค้าอะไรที่จะสามารถส่งข้ามไปยัง สปป.ลาว มันจะเป็นการยาก ไม่เหมือนหนองคายที่มีเขตติดต่อกัน ซึ่งเกษตรกรชาวสุพรรณบุรีจะได้นำสินค้าเกษตรมาตะเข็บรอยต่อ เพื่อให้คนท้องที่จังหวัดหนองคายได้นำต่อไปยังพื้นที่ปลายน้ำ  ซึ่งทางสุพรรณบุรีจะเป็นต้นน้ำให้ จังหวัดหนองคายก็จะเป็นกลางน้ำ นำไปสู่ปลายน้ำนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว  



ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต่อว่า โครงการนี้ที่สำเร็จได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มอบงบประมาณให้สภาเกษตรกรฯทุกๆ ปี ไปจัดทัศนศึกษาให้กับเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาศึกษาดูงาน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมหาศาล เพราะว่าถ้าเกษตรกรอยู่แต่ในบ้านก็จะมีองค์ความรู้เฉพาะในพื้นที่สุพรรณบุรี แต่ถ้าได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด ก็จะได้รับรู้ว่าจังหวัดนี้ได้ดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรไปถึงไหนแล้ว หรือสุพรรณบุรีได้เดินไมถึงไหนแล้ว ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ได้รับรู้ได้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าสินค้าเกษตรจากสุพรรณบุรีส่งออกได้จะสามารถพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน




ด้านนายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ กล่าวว่า สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ได้รับความนิยมของตลาดเป็นอย่างมาก สามารถทำรายได้วันละ 8,000 - 9,000 บาท โดยเฉพาะช่องทางในการจำหน่ายใน Thailand Post ให้บริการส่งของทางไปรษณีย์ ทำใหัมีลูกค้ามากขึ้นจนเป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งในไทยและนครหลวงเวียงจันทน์มากขึ้นอีกด้วย จนผลิตสินค้าไม่ทันเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตไม่มี หรือมีแต่มีน้อย เพราะพื้นที่ปลูกสับปะรดลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกมันสำปะหลังแทน เนื่องจากดูแลง่าย ต้นทุนปลูกก็ต่ำ ไม่เหมือนสับปะรดซึ่งมีต้นทุนสูงในการปลูก ในเมื่อมีพื้นทีปลูกน้อยก็ทำให้ราคาสับปะรดราคาแพงตามด้วย ถึงกิโลกรัมละ 18 บาท แต่ละวันจะต้องนำสับปะรดมาทำ 2-3 ตัน อีกทั้งยังมีกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสับปะรดกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าจะนำสับปะรดพื้นที่อื่นมาทำก็กลัวจะเสียรสชาติและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เพื่อรักษาฐานลูกค้าจึงจำเป็นนำวัคถุดิบในท้องถิ่นถิ่นมาผลิต แม้จะต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม โดยล่าสุดนี้ได้มีลูกค้าจากนครราชสีมา ติดต่อมาอยากเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรากลั่น "ซมเซย" หลังจากที่เคยชิมแล้วจากการสั่งซื้อผ่าน Thailand Post แล้วถูกใจ รวมทั้งลูกค้าในกรุงเทพมหานคร อยากให้ผลิตสุรากลั่น "ซมเซย"ให้ แต่จะต้องเป็นแบรนด์ของเขา ซึ่งจะให้เครดิตของเราเป็นหลัก โดยจะมีการทำ MOU ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในไม่ช้านี้








วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567

จังหวัดหนองคาย จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับจังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง นำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด่อยอดวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เกิดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริม Soft Power และเกียรติภูมิไทยสู่ระดับสากล


วันที่ 8 มี.ค. 2567 ที่  ศูนย์การเรียนรู้บ้านศิลป์ไทย หมู่ 3 ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง ประจำปี 2567 ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ได้จัดกิจกรรมขึ้น โดยมีนางรวงทอง พลธิราช วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวรายว่า มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น จำนวน 100 คน ร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2567







ซึ่งตลอดทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ศิลปินผู้มีประสบการณ์ คือนายเฉลิมศักดิ์ ธรรมเรืองฤทธิ์ (ครูแดงบ้านศิลป์ไทย) และนายไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ (ครูเบิ้มเติมศิลป์) ในหัวข้อ การสร้างแรงบันดาลใจงานศิลปะและเทคนิคในการวาดภาพ , ศิลปะกับชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง , เทคนิคการใช้สีวาดภาพ , เทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย , เทคนิคการวาดภาพ , คุณค่าของงานศิลปะที่มีต่อชีวิต และฝึกปฏิบ้ติการวาดภาพในหัวข้อ "วิธีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง" โดยเทคนิคการใช้สีเทียน สีชอร์ค  สีน้ำ สีโปสเตอร์  ซึ่งผลงานที่ออกมายอดเยี่ยมอันดับ 1 ,2, 3 แยกเป็นระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะนำไปแสดงโชว์ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ใต้ร่มพระบารมี 197 ปี เมืองหนองคายและงานกาชาดจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2567







ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดหนองคาย ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะ เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิดด้วยการแสดงออกผ่านงานศิลปะ และเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด่อยอดวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เกิดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งเสริม Soft Power และเกียรติภูมิไทยสู่ระดับสากล













จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...