วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567

สภาเกษตรกรหนองคาย - สภาเกษตรกรสุพรรณบุรี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกษตรกรนำผลผลิตส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน

สภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี  ในโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกร หวังแลกเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านหนองคายส่งขายยัง สปป.ลาว ขณะที่สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ทำรายได้วันละ 8-9 พันบาท และเป็นที่ต้องการของตลาดสูงจนผลิตไม่ทัน ลูกค้าทั้งโคราชและกรุงเทพฯยังสนใจติดต่อไปจำหน่าย


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 นางสาวฤดี พวงจำปา สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย  นายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยกลุ่มแปลงใหญ่สับปะรดศรีเชียงใหม่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกป่าฝาง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรได้ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยนายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรฯ ในโอกาสนำเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาทัศนศึกษาดูงาน ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ หมู่ 1 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งในการนำสับปะรด GI มาแปรรูปเป็น ไวน์สับปะรด "ตำจอก" และสุราสับปะรด "ซมเซย" รวมทั้งน้ำสับปะรดสกัด 100 % แยมสับปะรด เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและทางการเกษตร จนเป็นที่ต้องการของตลาดสูงทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว



นายสงบ สุขสำราญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า วันนี้ได้นำเกษตรกรจำนวน 90 ราย มาทัศนศึกษาดูงานจากสุพรรบุรีมาหนองคาย เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกษตรกรแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล แต่ละอำเภอว่ามีจุดเด่นอะไร ส่วนสุพรรณบุรีส่วนใหญ่ก็จะปลูกข้าวเป็นหลัก แต่องค์ความรู้ที่เกษตรกรยังเข้าไม่ถึงก็คือการที่จะเอาสินค้ามารวบรวมหรือขายออกสู่ตลาดยังแคบ เสมือนเป็นต้นน้ำที่จะส่งน้ำต่อให้ผู้บริโภคนั้นยังขาดในเรื่องนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนรู้กัน ซึ่งจะได้มีการแลกเปลี่ยนถ่ายสินค้าซึ่งกันและกัน  อย่างเช่นสุพรรณบุรีผลิตสินค้าอะไรที่จะสามารถส่งข้ามไปยัง สปป.ลาว มันจะเป็นการยาก ไม่เหมือนหนองคายที่มีเขตติดต่อกัน ซึ่งเกษตรกรชาวสุพรรณบุรีจะได้นำสินค้าเกษตรมาตะเข็บรอยต่อ เพื่อให้คนท้องที่จังหวัดหนองคายได้นำต่อไปยังพื้นที่ปลายน้ำ  ซึ่งทางสุพรรณบุรีจะเป็นต้นน้ำให้ จังหวัดหนองคายก็จะเป็นกลางน้ำ นำไปสู่ปลายน้ำนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว  



ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต่อว่า โครงการนี้ที่สำเร็จได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มอบงบประมาณให้สภาเกษตรกรฯทุกๆ ปี ไปจัดทัศนศึกษาให้กับเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีมาศึกษาดูงาน ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมหาศาล เพราะว่าถ้าเกษตรกรอยู่แต่ในบ้านก็จะมีองค์ความรู้เฉพาะในพื้นที่สุพรรณบุรี แต่ถ้าได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด ก็จะได้รับรู้ว่าจังหวัดนี้ได้ดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรไปถึงไหนแล้ว หรือสุพรรณบุรีได้เดินไมถึงไหนแล้ว ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ได้รับรู้ได้หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าสินค้าเกษตรจากสุพรรณบุรีส่งออกได้จะสามารถพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน




ด้านนายภูเบศ ใจขาน ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปสับปะรดบ้านหม้อ กล่าวว่า สุรากลั่นสับปะรด GI "ซมเซย" ได้รับความนิยมของตลาดเป็นอย่างมาก สามารถทำรายได้วันละ 8,000 - 9,000 บาท โดยเฉพาะช่องทางในการจำหน่ายใน Thailand Post ให้บริการส่งของทางไปรษณีย์ ทำใหัมีลูกค้ามากขึ้นจนเป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งในไทยและนครหลวงเวียงจันทน์มากขึ้นอีกด้วย จนผลิตสินค้าไม่ทันเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตไม่มี หรือมีแต่มีน้อย เพราะพื้นที่ปลูกสับปะรดลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่หันไปปลูกมันสำปะหลังแทน เนื่องจากดูแลง่าย ต้นทุนปลูกก็ต่ำ ไม่เหมือนสับปะรดซึ่งมีต้นทุนสูงในการปลูก ในเมื่อมีพื้นทีปลูกน้อยก็ทำให้ราคาสับปะรดราคาแพงตามด้วย ถึงกิโลกรัมละ 18 บาท แต่ละวันจะต้องนำสับปะรดมาทำ 2-3 ตัน อีกทั้งยังมีกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปสับปะรดกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ถ้าจะนำสับปะรดพื้นที่อื่นมาทำก็กลัวจะเสียรสชาติและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เพื่อรักษาฐานลูกค้าจึงจำเป็นนำวัคถุดิบในท้องถิ่นถิ่นมาผลิต แม้จะต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม โดยล่าสุดนี้ได้มีลูกค้าจากนครราชสีมา ติดต่อมาอยากเป็นตัวแทนจำหน่ายสุรากลั่น "ซมเซย" หลังจากที่เคยชิมแล้วจากการสั่งซื้อผ่าน Thailand Post แล้วถูกใจ รวมทั้งลูกค้าในกรุงเทพมหานคร อยากให้ผลิตสุรากลั่น "ซมเซย"ให้ แต่จะต้องเป็นแบรนด์ของเขา ซึ่งจะให้เครดิตของเราเป็นหลัก โดยจะมีการทำ MOU ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในไม่ช้านี้








วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567

จังหวัดหนองคาย จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับจังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง นำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด่อยอดวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เกิดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริม Soft Power และเกียรติภูมิไทยสู่ระดับสากล


วันที่ 8 มี.ค. 2567 ที่  ศูนย์การเรียนรู้บ้านศิลป์ไทย หมู่ 3 ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย "โขง Art Camp" ภายใต้โครงการสืบฮอยศิลป์ วิถีถิ่นลุ่มน้ำโขง ประจำปี 2567 ที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดหนองคาย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ได้จัดกิจกรรมขึ้น โดยมีนางรวงทอง พลธิราช วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวรายว่า มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น จำนวน 100 คน ร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2567







ซึ่งตลอดทั้ง 2 วัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ศิลปินผู้มีประสบการณ์ คือนายเฉลิมศักดิ์ ธรรมเรืองฤทธิ์ (ครูแดงบ้านศิลป์ไทย) และนายไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ (ครูเบิ้มเติมศิลป์) ในหัวข้อ การสร้างแรงบันดาลใจงานศิลปะและเทคนิคในการวาดภาพ , ศิลปะกับชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง , เทคนิคการใช้สีวาดภาพ , เทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย , เทคนิคการวาดภาพ , คุณค่าของงานศิลปะที่มีต่อชีวิต และฝึกปฏิบ้ติการวาดภาพในหัวข้อ "วิธีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง" โดยเทคนิคการใช้สีเทียน สีชอร์ค  สีน้ำ สีโปสเตอร์  ซึ่งผลงานที่ออกมายอดเยี่ยมอันดับ 1 ,2, 3 แยกเป็นระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จะนำไปแสดงโชว์ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ใต้ร่มพระบารมี 197 ปี เมืองหนองคายและงานกาชาดจังหวัดหนองคาย ประจำปี 2567







ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดหนองคาย ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านศิลปะ เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิดด้วยการแสดงออกผ่านงานศิลปะ และเป็นการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด่อยอดวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เกิดคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งเสริม Soft Power และเกียรติภูมิไทยสู่ระดับสากล













วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567

หนองคายบวงสรวงดวงวิญญาณวีรชนเปิดงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ 5-13 มี.ค.67

ผวจ.หนองคาย นำหัวหน้าส่วนราชการบวงสรวงดวงวิญญาณวีรชนที่เสียสละพร้อมรำลึกวีรกรรมปราบกบฏฮ่อ ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ใต้ร่มพระบารมี 197 ปี เมืองหนองคายและงานกาชาดจังหวัดหนองคาย


วันที่ 5 มี.ค. 2567  ที่หน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ อ.เมืองหนองคาย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรเอกชน พ่อค้า ประชาชนชาวหนองคาย ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ วางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ และพิธีทางศาสนาอุทิศบุญกุศลให้กับวีรชนผู้ที่เสียสละวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชนในการทำศึกสงครามปราบปรามกบฏฮ่อ  ในงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ใต้ร่มพระบารมี 197 ปี เมืองหนองคาย และงานกาชาด ประจำปี 2567  ปีนี้เริ่มวันที่ 5-13 มีนาคม 2567 ซึ่งวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันที่กองทัพไทยชนะศึกสงครามในครั้งนั้น และเพื่อเป็นการจัดหาทุนสนับสนุนกิจกรรมของสำนักงานเหล่ากาชาด และจัดหาทุนเพื่อใช้จ่ายในกิจการสาธารณกุศลของจังหวัดหนองคาย ที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน


กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย กิจกรรมเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชนและรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชนในศึกสงครามปราบปรามกบฏฮ่อ , การแสดงแสงเสียงสงครามปราบฮ่อ , การออกร้านมัจฉากาชาด , ถนนอาหาร , จัดแข่งขันกีฬาปราบฮ่อ , การแสดงผลงานตามแนวทางศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน , ถนนอาหาร , การประกวดร้องเพลงและการร้องเพลงเพื่อการกุศล , การจำหน่ายสินค้า ,การแสดงดนตรี คอนเสิร์ตบนเวที โดยกิจกรรมทั้งหมดจะจัดบริเวณลานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลานหน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ และบริเวณถนนโดยรอบ






วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567

เกษตรกรเลี้ยงไก่บ้านพื้นเมือง เป็ดอี้เหลียงขายไข่ รายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน

เกษตรกรศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เลี้ยงไก่บ้านพื้นเมือง ไก่สวยงามหลากหลายสายพันธุ์ และเป็ดอี้เหลียง เลี้ยงง่าย กินง่าย โตเร็ว ไข่ดก ทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ดี นับหมื่นบาทต่อเดือน


นายจรัญ กลางประดิษฐ นายอำเภอศรีเชียงใหม่ ได้เข้าเยี่ยมสถานที่เพาะพันธุ์ไก่พื้นเมือง "สมศักดิ์ฟาร์ม" เลขที่ 258 หมู่ 3 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ของนายสมศักดิ์ โม้กุดแอก อายุ 41 ปี ซึ่งในฟาร์มเพาะพันธุ์ไก่พื้นเมืองแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ (กลุ่มเลี้ยงไก่ฟื้นเมืองอำเภอศรีเชียงใหม่) , เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไก่ฟื้นเมือง , เป็นศุณย์เครือข่าย ศพก. (ด้านปศุสัตว์)  และเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงสัตว์ โดยนายสมศักดิ์ได้เน้นเลี้ยงไก่บ้านพื้นเมือง ไก่สวยงามหลากหลายสายพันธุ์กว่า 10 สายพันธุ์ และเป็ดอี้เหลียงตามไปด้วย เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวจากการขายไข่ และไก่ที่มีความสวยงามเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาเลี้ยงและชมความสวยได้ด้วย




นายสมศักด์ โม้กุดแอก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯอยู่สามสี่ปี แต่ด้วยพ่อกับแม่อายุมากจึงกลับมาอยู่บ้านเพื่อที่จะได้ดูแลทั้งสองคน และยังได้ไปสมัครงานเป็นคนขับรถของ รพ.ศรีเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็มาพัฒนาพื้นที่ 4 ไร่ตรงนี้ โดยปรึกษากับคนในครอบครัวก็ให้ขุดสระเลี้ยงปลา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามศาสตร์พระราชาที่ได้คิดไว้ หล้งจากนั้นก็ได้มีโอกาสไปเป็นลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ได้ไปเรียนกสิกรรมธรรมชาติและศึกษาทางยูทูปเพื่อมาเป็นแรงบรรดาลใจในการปรับพื้นที่ 4 ไร่ว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ได้เข้ามาเป็นเกษตรกรในส่วนหนึ่งของอำเภอศรีเชียงใหม่ ได้รับไก่พระราชทานเป็นไก่พื้นเมือง ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทาง กอ.รมน.จ.หนองคาย และทางหน่วยงานราชการได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรให้เข้ามาอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ และตนก็ได้เป็นประธานศูนย์ฯเพื่อค้นหาเกษตรกร 52 คน ให้มีอยู่มีกินโดยไม่ต้องไปผึ้งพาคนอื่น ผึ้งพาตัวเองให้ได้ หลังจากนั้นก็ได้ทำการเลี้ยงปลาดุกในกระชังที่บ่อปลา ก็พอได้อยู่ได้กิน ต่อมาก็ได้ทำการแปรรูปปลาดุก




นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วผมนั้นเป็นคนชอบเลี้ยงไก่ จึงเอาไก่มาเป็นหลัก ซึ่งตอนแรกคิดว่าเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ ไปๆมาๆ มันไม่ใช่ จึงได้เลี้ยงไก่แปลกและสวยงามมากกว่า 10 สายพันธุ์ ก็จะมี ไก่ยักษ์บลาม่า ไก่ซิลกี้ ไก่เบตง ไก่ไลท์ซัซเซค ไก่งวง ไก่งวงลูกผสมใจแอนท์ ไก่พม่า และก็ "ไก่ไข่ออสตราลอป" ที่หาได้อยาก ในประเทศไทยไม่มี "ไก่ฟายูมี" หาอยากที่สุดในประเทศอียิปต์ นอกจากนี้ก็ยังมีไก่ป่าเลือดร้อยแท้หูขาว ไก่แจั ไก่ชนแคระโมเดิร๋นเกม ไก่โปแลน ไก่ฟ้าคอแหวน ไก่ฟ้าโกลเด้น นกยูงอินเดีย และก็นกยูงแบล็ควิง ไก่เหลืองหางขาว ไก่ชีท่าพระ ไก่บาร์พลีมัทร็อค หลังจากนั้นก็จะมีจำพวกเป็ด เช่น เป็ดมินิมัลลาร์ด ทึ่ผมนำเข้ามาเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์ เป็ดอี้เหลียง ล่าสุดก็เป็นเป็ดพระราชทาน ซึ่งตอนนี้ผมได้ขยายพลเป็ดพระราชทานไปสู่เกษตรกรในพื้นทึ่อำเภอสังคม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเป็นผู้รับมอบ



เจ้าของสมศักดิ์ฟาร์ม กล่าวต่อว่า ส่วนรายไดัก็จะได้เป็นรายวันจากการเก็บไข่ไก่บ้านขาย และก็ไข่เป็ดอี้เหลียง ไข่เป็ดพระราชทานที่เก็บขายทุกวัน ไข่พวกนี้จะเป็นไข่เป็ดอารมณ์ดี ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของผม ก็คือ "ไข่เป็ดอารมณ์ดี สมศักดิ์ฟาร์ม ไข่ปลอดโรค GFM" และก็ "ไข่ไก่บ้านพื้นเมือง แซป" โดยรายไดัจากการขายไข่วันละ 350 บาท หรือ 10,500 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีมาก ตอบโจทย์ดีมากจนผลิตไม่ทัน เพราะคนเลี้ยงน้อย ตอนนี้อยากไห้เกษตรกรในอำเภอศรีเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียงหันมาเลี้ยง "เป็ดอี้เหลียง"  เพราะว่าเลี้ยงง่าย กินง่าย โตเร็ว ออกไข่ดก ฟองโต และยังอาจมีไข่แดง 2 ฟองอยู่ร่วมฟองเดียวกัน และยังตอบโจทย์ในเรื่องโปรตีน อีกด้วย






จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...