สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5 ) นำคณะชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอนาแห้ว จ.เลย เยี่ยมชมและศึกษาดูงานดอนป่าเปือยบ้านหม้อ ในการศึกษาเส้นทางตามรอยพญานาคริมแม่น้ำโขงหนองคาย มุ่งสร้างชุมชนการท่องเที่ยว เพื่อให้มีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
วันที่ 31 ส.ค. 2566 นายศราวุธ กลันทะกะสุวรรณ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.5 ได้จัดทำโครงการศึกษาเส้นทางตามรอยพญานาคริมน้ำโขงหนองคาย โดยการนำเจ้าหน้าที่ อพท.5 และคณะชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอนาแห้ว จ.เลย เข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติดอนป่าเปือยบ้านหม้อ หมู่ที่ 7 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีคณะกรรมการจิตอาสาพัฒนาดอนป่าเปือยบ้านหม้อ นำโดย นายสนอง เข็มพรหมมา ประธานคณะกรรมการฯ ให้การต้อนรับและพาชมพื้นที่กว่า 36 ไร่
ทั้งนี้ดอนป่าเปือยบ้านหม้อ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีต้นเปือยหรือต้นตะแบกขนาดใหญ่ที่มีอายุกว่า 300-400 ปี โดยมีขนาดใหญ่ทึ่สุดในประเทศไทย ที่มีเส้นรอบวงลำต้นถึง 5 เมตร 30 เซนติเมตร สูงกว่า 3 เมตร แตกลำต้นออกเป็น 4 ทิศ และยังเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อปี พ.ศ. 2544 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ชาวไทพวนบ้านหม้อได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าเปือย จึงได้ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยทำสะพานเดินเยี่ยมชมต้นเปือยทุกต้น ตามกำลังทรัพย์ของชาวบ้านที่มีความเชื่อและศรัทธา
นายศราวุธ กลันทะกะสุวรรณ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) กล่าวว่า วันนี้ได้นำเจ้าหน้าที่ของ อพท.5 และชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอำเภอนาแห้ว จ.เลย มาศึกษาเส้นทางตามรอยพญานาคริมน้ำโขงหนองคาย และก็ให้ทางชุมชนที่มาร่วมกิจกรรมได้มาศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ก็เพื่อนำไปประยุคใช้และพัฒนาตัวเองในการสร้างชุมชนการท่องเที่ยวของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้มีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
นายศราวุธ กล่าวอีกว่า ในการได้มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานดอนป่าเปือยบ้านหม้อ เห็นแล้วรู้สึกประทับใจในการที่ชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาดอนป่าเปือยสามารถบริหารจัดการได้ดี มีการแบ่งกลุ่มการทำงานได้เป็นกลุ่มๆ และก็บริหารจัดการโดยไม่ใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ โดยเป็นการใช้เงินบริจาคจากการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทาง อพท.นั้นอยากเห็น เพราะว่ามันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน