วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย พบหมูป่วยตายด้วยโรค "PRRS" ปศุสัตว์อำเภอสั่งห้ามเคลื่อนย้ายหมูเข้าออกหมู่บ้าน 1 เดือน หวั่นระบาดไปเป็นวงกว้าง

วันนี้ 2 มิ.ย. 2564 นายศักดิ์สิทธิ์ ทิพยธร ปศุสัตว์อำเภอศรีเขียงใหม่ ได้มีการออกหนังสือประกาศให้เขตพื้นที่ บ้านดอนก่อ หมู่ที่ 3  และบ้านนาโพธิ์ หมู่ 4 ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ภายหลังจากที่ตรวจพบมีหมูตายด้วยโรคพีอาร์อาร์เอส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) เป็นจำนวนมากกว่า 40 ตัว ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทางปศุสัตว์อำเภอ ได้ออกประกาศห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสุกร หมูป่า หรือซากสัตว์ทุกชนิด เข้า ออก หรือผ่านเขตพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้าน เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดออกไปยังพื้นที่ข้างเคียง หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 65 แห่ง พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558




นายเข็มชาติ จันทิมา เจ้าของฟาร์มหมูในพื้นที่บ้านดอนก่อ หมู่ 3 ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเขียงใหม่ กล่าวว่า ที่ฟาร์มได้เลี้ยงหมูทั้งหมด 22 ตัว เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา สังเกตุเห็นหมูที่เลี้ยงไว้มีอาการซึม ไม่กินอาหาร และก็ทยอยตายลงวันละตัวสองตัว โดยปศุสัตว์อำเภอได้มาตรวจสอบ พบว่าหมูที่เลี้ยงไว้ป่วยเป็นโรค PRRS จึงได้แนะนำให้นำหมูไปทำลายโดยการฝังกลบ และทางปศุสัตว์อำเภอยังได้มีการสั่งให้ฆ่าหมูทั้งหมดที่เหลืออย่างโดยเร็ว เพื่อควบคุมป้องกันโรค ด้วยการฝังกลบเช่นกัน โดยจะชดค่าเสียหายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ต่อไป



นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าฟาร์มหมูในพื้นที่ใกล้เคียง และพื้นที่อื่นๆในจังหวัดหนองคาย ก็ประสบปัญหาโรค PRRS  ระบาดเช่นกัน ทั้งนี้โรค PRRS ถือว่าเป็นโรคที่มีอาการกับระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของหมู ซึ่งจะทำให้แม่หมูแท้งในระยะตั้งท้อง ส่วนลูกหมูที่ติดเชื้อ จะมีอาการแคระแกร็น โตช้า และป่วยเรื้อรังจนตายลงในที่สุด จึงเป็นโรคที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร












วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

รวบยกแก็ง! เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรหนองคาย จับ 4 ผู้ต้องหา พร้อมยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด ไอซ์ 128 กรัม

วันนี้ 1 มิ.ย. 2564  ที่ หน้ากองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย พ.ต.อ.ออมสิณ บุญญานุสนธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน  ตรวจคนเข้าเมืองหนองคายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม นายสิทธิพล นามบุรี อายุ 29 ปี อยู่, นายเอกพงษ์ นามบุรี อายุ 30 ปี  พี่ชายนายสิทธิพล อยู่บ้านเลขที่ 57/1 หมู่ 8 ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย, นายอนุชา นามบ้านค้อ อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 ต.หนองกอมเกาะ และ น.ส.ศิรประภา ดีลูกชาติ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68/1 หมู่ 10 ต.ค่ายบกหวาน อ.เมืองหนองคาย พร้อมของกลาง ยาบ้า 184,155 เม็ด, ไอซ์ 128 กรัม, รถจักรยานยนต์ฮอนด้าเวฟ สีดำ ทะเบียน ขกท 639 หนองคาย, จักรยานยนต์ฮอนด้าซีบีอาร์  สีแดง ไม่ติดทะเบียน, รถยนต์เก๋ง โตโยต้า วีออส สีขาว ทะเบียน ขข 1210 อุดรธานี และโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง

             

พ.ต.อ.ออมสิณ บุญญานุสนธิ์   กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ได้รับแจ้งว่าจะมีการส่งมอบยาเสพติดบริเวณริมถนนมิตรภาพ หนองคาย -อุดรธานี ใกล้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหนองคาย  จึงได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ จนกระทั่ง  พบนายสิทธิพล และนายอนุชา ขี่รถจักรยานยนต์ซ้อนกันมาจอดที่ริมถนนใกล้กับป้ายจุดพักรถ นายอนุชาลงจากรถเดินไปอุ้มถุงปุ๋ยที่วางอยู่ใต้ป้ายจุดพักรถ ขึ้นรถจักรยานยนต์ เจ้าหน้าที่ได้ขับรถยนต์ติดตามไป นายสิทธิพลและนายอนุชาเห็นว่ามีรถติดตาม  จึงพยายามขี่รถหลบหนีจนเสียหลักล้มลง เจ้าหน้าที่จึงจับกุมตัวไว้ได้ ตรวจสอบภายในถุงปุ๋ยพบเป็นยาบ้าจำนวนดังกล่าว 

            



จากการสอบสวนทั้งสองคน ให้การรับสารภาพว่า ยาบ้าเป็นของนายเอกพงษ์ พี่ชายนายสิทธิพล ใช้ให้พวกตนมารับไปพักไว้ที่บ้าน  ส่วนนายเอกพงษ์รอที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งใน อ.ศรีเชียงใหม่   เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมนายเอกพงษ์ได้ พร้อม น.ส.ศิรประภา แฟนสาว จากการสอบสวนยนายเอกพงษ์  รับสารภาพว่า ยังมียาบ้าซุกซ่อนไว้ที่บ้านพักในพื้นที่ อ.หนองแสง จ.อุดรธานี และยินดีนำเจ้าหน้าที่ไปตรวจยึด เจ้าหน้าที่จึงได้ขยายผลตรวจยึดยาบ้าไว้ได้อีก 50 เม็ด รวมยาบ้าทั้งหมด 184,155 เม็ด  


เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย และเพิ่มข้อหานายเอกพงษ์กับ น.ส.ศิรประภา ร่วมกันเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการใช้ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมหรือกระทำด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย แล้วคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคาย ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จ.หนองคาย ยังวางมาตรการเข้มงวด สกัดกั้นโควิด- 19 ตามแนวชายแดนและผู้เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด

วันที่ 31 พ.ค. 2564 นายประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ที่ 17 /2564 เรื่อง ข้อกำหนดการปฏิบัติตามมาตรการสำคัญ เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในจังหวัดหนองคาย โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคาย ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จึงมีคำสั่ง ดังนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหนองคายที่ 18/2564 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 และคำสั่งฯที่ 16/2564 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564


ข้อ 2 การปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

(2.1) การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน ให้หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดหนองคาย ประก่อบด้วย กอ.รมน.นค. ,หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตหนองคาย (นรข.) ,กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 245 ให้เข้มงวดควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกันมิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย หากพบการลักลอบเข้าประเทศ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

(2.2) การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ให้ตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย, ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการคัดกรองบุคคลและรถขนส่งสินค้าตามแนวชายแดน กำหนดจุดรับส่งสินค้าให้อยู่ในพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนด โดยถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


ข้อ 3 การสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ในพื้นที่

(3.1) ประชาชนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดหนองคายจากพื้นที ที่กำหนดให้เป็น 1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ  และ 2 พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดตาก, จังหวัดนครปฐม, จังหวันครศรีธรรมราช, จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดเพชรบุรี, จังหวัดยะลา, จังหวัดระนอง, จังหวัดระยอง, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดสงขลา, จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ต้องรายงานตัวต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม ) ในพื้นที่ โดยต้องกักกันตัวที่บ้านหรือที่พักอาศัย (Home Quarantine) อย่างเคร่งครัดและเข้มข้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยการแยกห้องพัก ห้องสุขา อุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว ฯลฯ เว้นแต่เป็นบุคคล ได้แก่ 1) ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม มาแล้วระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และมีใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate : VC) ฉบับจริงแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่  หรือ 2 มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แสดงว่าไม่พบเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ Rapid test ในเวลาภายใน 27 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด (Self-Quarantine) อีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

(3.2) บุคคลใดเดินทางมาจากพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงผู้สัมผัสและผู้อยู่ใกล้ชิดในเหตุการณ์ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองและคุมไว้สังเกต ตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน หากเพิกเฉยไม่ดำเนินการดังกล่าว มีความผิดตามคำสั่งนี้ ทั้งนี้กรณีเป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองกำหนดให้ผลักดันได้  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการผลักดันตามอำนาจหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ข้อ 4 การห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

(4.1) ทุกกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ให้ระงับหรือเลื่อนออกไป เช่น การอบรมสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ การจัดงานคอนเสิร์ต งานกิจกรรมกีฬา สภากาแฟ เป็นต้น ยกเว้นกิจกรรมทางศาสนา งานประเพณีท้องถิ่นที่ได้กำหนด และดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไว้อย่างเข้มงวดแล้ว

(4.2) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเหมาะสมเคร่งครัดและเข้มข้น เช่น มาตรการ D-M-H-T-T-A ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ D-Distancing การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 - 2 เมตร M - Mask Wearing การสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เมื่อออกจากที่พักอาศัยหรือเข้าไปในที่ชุมชน H-Hand Washing การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดอยู่เสมอ T-Temperature Checked การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปในสถานที่ T-Testing การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 และ A-Application การมีและใช้แอพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องในการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นต้น

(4.3) ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโรคได้ เช่น การรวมตัวเล่นการพนันทุกชนิด เป็นต้น


ข้อ 5 การควบคุมการแพร่กระจายโรค จำแนกตามพื้นที่สถานการณ์

(5.1) ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่ เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสม และความพร้อมโดยให้ดำเนินการตามคำแนะนำของทางราชการและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี

(5.2) ให้ร้านอาหารสามารถบริการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยสามารถบริโภคในร้านได้แต่ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา

(5.3) ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า  คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน  สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย


ข้อ 6 การปิดและการปฏิบัติในสถานที่ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อโรค ดังนี้

(6.1) สนามมวย สนามชนไก่ สนามซ้อมไก่ สนามกัดปลา

(6.2) สนามกีฬาที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เปิดและมีได้เฉพาะกิจกรรมการออกกำลังกายเล่นกีฬาประเภทนั้นๆ เท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หรือกระทำกิจกรรมอื่นใดในลักษณะเข้าข่ายการรวมกลุ่มหรือการสังสรรค์อย่างเด็ดขาด

(6.3) ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน


ข้อ 7 การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายโรคส่วนบุคคล ให้ประชาชนทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เมื่อจำเป็นต้องออกจากเคหสถานหรือสถานที่ทำงาน เพื่อติดต่อธุระหรือกระทำการอื่นใด รวมทั้งเมื่อมีเหตุอันควรต้องสวมใส่ เช่น เมื่อต้องปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำงานการอยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยงจะแพร่หรือได้รับเชื้อโรค การอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก เป็นต้น อันเป็นการปฏิบัติตามสุขอนามัยในการป้องกันโรคต่อตัวบุคคลและประชาชนทั่วไป


ข้อ 8 การปฏิบัติสำหรับผู้ขนส่งที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย

(8,1) มาตรการก่อนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ให้ผู้ขนส่งสินค้าแสดงเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ได้แก่ หนังสือแสดงการขนส่งสินค้า ซึ่งระบุเวลาที่จะเข้ามาและออกจากราชอาณาจักรไทย ระบูชนิดและจำนวนสินค้า ชื่อสกุลและสถานที่ที่สามารถติดต่อของผู้ขนส่งสินค้า ผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้า

(8.2) มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักรไทย

1) ให้ผู้นส่งสินค้าปฏิบัติฎารกิจในการขนส่งสินค้า ในราชอาณาจักรไทยเท่าที่จำเป็น เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับไปโดยเร็ว

2) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ผู้ขนส่งสินค้า ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Entry Screening)

3) ให้ผู้ขนส่งสินค้านำยานพาหนะไปจอดและขนส่งสินค้า ณ จุดที่กำหนด คือศูนย์ควบคุมทางศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย เท่านั้น เว้นแต่ ผู้ขนส่งสินค้าจะมีหนังสือรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ว่ามีผลเป็นลบ (Covid -Free) ซึ่งตรวจมาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ได้ภายใน 7 วัน (ถ้าเกินต้องตรวจใหม่) แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้ขนส่งสินค้าสามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้าได้ในเขตพื้นที่เขตอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย รวมทั้งให้ใช้ระบบติดตามหรือแอปพลิเคชัน เพื่อการติดตามป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด


อนึ่ง ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามคำสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2458 คู่กรณีไม่อาจใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งนี้ได้


หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ อาจมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จนกล่าวจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ตามรายละเอียดดังนี้







กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มอบสัญญาเงินกู้กว่า 3.956 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค อ.เมืองหนองคาย ในโครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ

วันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่  ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ที่ 4 ต.ปะโค อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นายอำไพ ประเสริฐสังข์ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามในสัญญาค้ำประกันเงินทุนกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ซึ่งวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค ได้ขอรับสนับสนุนเงินกู้ยืมในวงเงิน 3,956,670 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในการทำบ่อผ้าใบ และติดตั้งอุปกรณ์ให้อากาศ  จัดซื้อปลาดุก จัดซื้ออาหารเมล็ดและวัสดุอื่นๆ ในโครงการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ โดยมี นายทองพูน สมสา ประธานวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค, นายสุวพิษ ศรีวงษ์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ และนางสาวไพรินทร์ ผลตระกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พร้อมเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตปลาดุกให้มากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค



ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญชองจังหวัดหนองคาย ซึ่งผู้บริโภคนิยมรับประทานอย่างแพร่หลาย สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจและนิยมเลี้ยง ทั้งในบ่อดิน และในกระชัง ทั้งนี้ในช่วงหน้าแล้งที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยง ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน  สมาชิกกลุ่มได้ศึกษารายละเอียดรูปแบบการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ โดยได้รับคำแนะนำจากประมงอำเภอเมืองหนองคาย  ได้นำกลุ่มผู้สนใจเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ไปศึกษาดูงานที่บ่อเลี้ยงปลาดุกของ นายกฤช มิคาระเศรษฐเหมาะรักษ์  เจ้าของฟาร์มปลาดุกหนองคาย โดยนำคณะเยี่ยมชมฟาร์ม  และให้คำแนะนำการเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ร่วมกับการนำระบบการเลี้ยงจุรินทรีย์ไบโอฟลอคมาใช้ (Biofloc) ในการบำบัดน้ำให้มีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งในการเบีลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใย ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน สามารถจับขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท เลี้ยงได้ 3 รอบต่อปี  จึงเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงสร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีตลาดรองรับที่แน่นอน 



โดยวิสาหกิจฯ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการค้าและการจัดการฟาร์ม กับกลุ่มปลาดุกหนองคาย ซึ่งบริหารจัดการด้านการตลาด และส่งผลผลิตยังพื้นที่ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตลาด สปป.ลาว จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างความมั่นคงจากอาชีพเลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ  ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีความสนใจในการเลี้ยงปลาคุกรูปแบบดังกล่าวต่อไป



นางสาวไพรินทร์ ผลตระกูล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ กล่าวว่า กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นกองทุนภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิต การจำหน่าย การพยุงราคา การวิจัยและการดำเนินงานที่จำเป็นเร่งด่วนให้กับองค์กรด้านการเกษตรหรือหน่วยงานของรัฐ โดยเปิดให้จัดทำโครงการเพื่อขอกู้เงินช่วยเหลือในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 0-2 และมีกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระ 3-7 ปี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และประเภทของโครงการที่ยื่นขอกู้ขององค์กรด้านการเกษตรและส่วนราชการต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรที่ขาดเงินลงทุน และมีปัญหาในเรื่องหลักประกัน สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้นและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินปกติ โดยทางวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงปลาดุกตำบลปะโค ได้ทำสัญญาเงินกู้ 5 ปี วงเงิน 3,956,670 บาท ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ต้องมีลักทรัพย์ค้ำประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งการลงนามในสัญญาค้ำประกันในครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนของกองทุนฯ ก่อนที่จะดำเนินขั้นตอนการเบิกจ่ายต่อไป






วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จ.หนองคาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบป่าต้นน้ำในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าว-ป่าแก้งไก่ หลังมีขบวนการลักลอบต้ดไม้ไผ่(ไผ่ข้าวหลาม) ยังพบร่องรอยลักลอบตัดต่อเนื่อง

วันที่ 28 พ.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดหนองคาย พร้อมกับหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สังคม และอาสาพิทักษ์ป่าบ้านห้วยหินขาว ร่วมกันออกตรวจพิสูจน์ทราบพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ถาวร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพานพร้าว-ป่าแก้งไก่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีพื้นที่กว่า 3,025 ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อ.โพธิ์ตาก, อ.ศรีเชียงใหม่, อ.สังคม จ.หนองคาย และ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งเกิดน้ำซับ เกิดเป็นซำ เป็นลำห้วยหลายสาย โดยเฉพาะ"ห้วยเซียง" ท้องที่บ้านดอนขนุน หมู่ 5 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย เนื่องจากมีกลุ่มบุคคล ขึ้นไปลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะต้นไผ่ข้าวหลามเป็นบริเวณกว้าง ห่างจากวัดดอนขนุน(ถ้ำฮ้าน) ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอโพธิ์ตาก ได้ทำการตรวจยึดไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก



ทั้งนี้ การลงสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปตามแผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง กิจกรรมงานพิทักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการผนึกกำลังป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  




พบว่ายังมีการลักลอบเข้าไปตัดต้นไผ่ข้าวหลามอย่างต่อเนื่อง และตัดซุกซ่อนไว้ในป่าและสวนยางพาราของชาวบ้าน และมีการลักลอบเข้ามาตัดในเวลากลางวัน ลักลอบขนในเวลากลางคืน ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะทำการลาดตระเวนป้องกันไม่ให้คนบุกรุกและลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำรายป่า พร้อมเตือนประชาชนเนื่องจากพื้นที่เป็นป่าต้นน้ำ จะมีน้ำจะไหลไปรวมกับห้วยทอนตอนบน ห้วยกาบแก้ว และห้วยไฮ  ผ่านพื้นที่อำเภอโพธิ์ตาก จ.หนองคาย ก่อนจะไหลลงลงไปรวมกับลำห้วยโมงที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แล้วไหลวกกลับมาที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง หากมีการบุกรุกและลักลอบตัดไม้ทำรายป่า เป็นการทำผิดกฎหมาย จะจับกุมดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด










จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...