วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

จังหวัดหนองคาย จัดงานพิธีบูรพาจารย์ รำลึก 100 ปี วัดอรัญญวาสี 150 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

วันที่ 12 ก.ย. 63 ที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พระกิตติสารโสภณ (หลวงพ่อบุญเลิศ สุจิตโต) เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (ธ) เจ้าอาวาสวัดอรัญญวาสี ประธานฝ่ายสงฆ์ นําคณะสงฆ์ออกบิณฑบาต เนื่องในงานพิธีบูรพาจารย์ รำลึก 100 ปี วัดอรัญญวาสี 150 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองคาย นายเผด็จ สุขเกษม วัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย นายนวน โทบุตร นายอำเภอท่าบ่อ ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น พุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์ร่วมพิธีทําบุญตักบาตร ถวายผ้าไตร และถวายสังฆทาน



พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ได้เขียนประวัติวัดอัญญวาสีไว้ว่า ความเป็นมาของวัดอรัญญวาสีที่แท้จริงไม่ทราบได้แน่นอน เพราะวัดอรัญญวาสี เดิมเป็นวัดร้างเก่าแก่เหมือนๆ กับวัดร้างทั้งหลายที่มีดาษดื่นอยู่ตามสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง บางแห่งได้ปรับปรุงแล้ว บางแห่งยังอยู่ภาพเดิม วัดเหล่านี้เข้าใจว่าสร้างสมัยนครเวียงจันทน์กำลังรุ่งโรจน์  วัดอรัญญวาสีก็เช่นเดียวกัน วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างไม่ปรากฎชื่อ ที่ได้ชื่อว่า "วัดอรัญญวาสี" เพราะผู้มาตั้งที่แรกเป็นพระธุดงค์ สถานที่ก็เป็นป่าทึบ ฉะนั้นจึงได้ตั้งชื่อว่า "วัดอรัญญวาสี"

เมื่อราว พ.ศ. 2459 พระกัมมัฏฐาณคณะ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พร้อมด้วยลูกศิษย์ไม่ถึง 10 องค์ ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร มาถึงอำเภอบ้านผือ อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งแรก พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ศิษย์รุ่นแรกของพระอาจารย์มั่น รุ่นเดียวกับหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่ดูลย์ ได้เดินธุดงค์มาสถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นป่ารกทึบไปด้วยกอไผ่ ต้นกระพอก และต้นกระบก เป็นสถานที่ร่มครี้ม ป่าทึบมาก ห่างจากหมู่บ้านพอสมควร ทั้งยังมีพระพุทธรูปชำรุดและแขนขาดไปบ้างแล้ว จึงเข้าไปอาศัยทำสมณกิจอยู่ในนั้น เมื่อชาวบ้านทราบข่าวจึงพากันไปปฏิบัติถากถางทำกระต็อบเล็กๆ ให้ท่านอยู่อาศัย ท่านอาจารย์สุวรรณ ได้อยู่จำพรรษาที่นั้นพรรษาหนึ่ง ออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นวิสัยของพระกัมมัฏฐานในสมัยนั้น บางทีท่านก็กลับมาจำพรรษาอีก บางทีองค์อื่นก็มาแทน สับเปลี่ยนกันอย่างนี้ ญาติโยมผู้มีศรัทธาจึงได้ทำกระต็อบเล็กๆ ให้พออยู่จำพรรษาได้ บางทีหลายๆ ปีท่านก็กลับมาจำพรรษาอีก กุฏิชำรุดก็สร้างใหม่ พร้อมกันนั้นท่านก็ได้สอนประชาชนให้รู้จักคุณของพระรัตนตรัยอย่างชัดแจ้ง และถือไว้เป็นหลักประจำใจ และสอนสมาธิภาวนาไปในตัวด้วย ซึ่งพระคณาจารย์ในสมัยนั้นหาได้ยากที่จะสอนแบบนี้ เหตุนั้นคนทั่วไปจึงนับถือมากเป็นพิเศษ พระราชวุฒาจารย์ (พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล) ก็เคยมาจำพรรษาที่นี้พรรษาหนึ่ง พระกัมมัฏฐานสมัยนั้นตั้งใจสั่งสอน  ญาติโยมได้เข้ามาฟังโอวาทโดยความจริงใจ ไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก บางครั้งกลางคืนดึกดื่น ถึงบ่ายหนึ่งบ่ายสองก็มี และไม่ได้ตั้งใจเพื่อลาภ เพื่อยศและเกียรติคุณต่างๆ เลย  สอนด้วยความจริงใจจริงๆ ไม่ได้คิดว่าเราเผยแพร่ลัทธินิกายอย่างสมัยนี้ 




ราว พ.ศ. 2468 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พร้อมด้วยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และคณะสานุศิษย์หลายองค์ด้วยกันกลับมาจากอำเภอบ้านผือ อำเภอหนองบัวลำภู ได้มาจำพรรษาที่นี้ ในปีนี้เองพระอาจารย์หลายองค์ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนา ได้เข้ามาญัตติเป็นพระคณะธรรมยุต คือ พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน พระอาจารย์อุ่น ธัมมธโร  พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ  พระอาจารย์ฟั่น อาจาโร  พระอาจารย์กว่า สุมโน ท่านเหล่านี้ได้มาจำพรรษาในที่นี้เป็นครั้งแรกร่วมกับพระอาจารย์มั่น ส่วนพระอาจารย์เสาร์ ท่านได้แยกออกไปจำพรรษาที่วัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านตั้งขึ้นใหม่  ผู้เขียนกับอาจารย์อุ่น ได้แยกออกไปจำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ออกพรรษาแล้วท่านเหล่านั้นทั้งหมด ยกเว้นพระอาจารย์เสาร์องค์เดียว ได้ลงไปทางท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จำพรรษาที่บ้านสามผง 1 พรรษา  เมื่อปี พ.ศ. 2476 ผู้เขียนกลับมาจากโคราชได้มาจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ออกพรรษาแล้วได้ขึ้นไปจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยพระครูสีลขันธ์สังวร (พระอาจารย์อ่อนสี)  ต่อมา พ.ศ. 2477 พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม วัดบ้านโนนทัน กลับมาจากเพชรบูรณ์ แล้วได้มาจำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี พระครูญาณปรีชา (พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ) เมื่อปี พ.ศ. 2479 นางเกตุ แซ่คู ได้มีศรัทธาสร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่ง ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาชั้นเดียวมุงสังกะสีเหมือนกับโรงเรือนธรรมดา นับได้ชื่อว่าวัดนี้บูรณะถาวรวัตถุเป็นครั้งแรก 




ในปี พ.ศ. 2482 ผู้เขียนได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดอรัญญวาสีอีกวาระหนึ่ง นางเกตุ แซ่คู ได้สร้างกุฏิถาวรถวายเป็นครั้งแรก ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน (กุฏิหลวงพ่อนาค) ต่อมาลูกหลานของนางพูน แซ่เล้า ได้สรำงกุฏิสำเร็จด้วยไม้สักทั้งหมดอีกหลังหนึ่งทางด้านใต้ของวัด  ผู้เขียนได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดนี้เป็นเวลา 9 ปี ท่านเกตุ พี่ชายของผู้เขียนได้มรณภาพ ณ ที่นี้ ออกพรรษาแล้วได้สูญเสียสิ่งที่เคารพนับถืออย่างยิ่งคือ โยมมารดาได้เสียชีวิตไปอีกชีวิตหนึ่ง พร้อมกันนั้นโรคประสาทของผู้เขียนกำเริบหนักขึ้น ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ จำเป็นจึงต้องย้ายไปจำพรรษาที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมกันนี้ก็ได้ลาภอันใหญ่หลวง เพราะก่อนจะไปก็ได้ชักชวน หลวงตานาค ปัญญาวรโร ซึ่งได้เคยอุปฐากวัดมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีให้มาบวช นี้แหละได้ชื่อว่าลาภอันใหญ่หลวง กับนายตุ้ม ผู้เป็นเพื่อนรักกันอีกคนหนึ่งด้วย แต่นายตุ้มนั้นวาสนาน้อย มาบวชได้พรรษาเดียวเลยมรณภาพเสีย ส่วนหลวงตานาคเมื่อบวชแล้วกิเลสเข้ามาลุ่มล้อมอย่างหนัก แต่ท่านก็ต่อสู้เอาชนะจนได้ จึงอยู่รอดมาจนทุกวันนี้ นับว่าเป็นชัยชนะอันใหญ่หลวง เป็นบุญกุศลในชีวิตบั้นปลาย  ก่อนที่ผู้เขียนจะไปจากวัดนี้ ได้ไปนิมนต์ให้ พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต (พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา) ให้มาจำพรรษา ณ ที่นี้ เมื่อพระอาจารย์หลอด ไปแล้ว หลวงตานาคก็ได้ครองวัดต่อมา




ผู้ขียนได้พิจารณาถึงวัดนี้ว่า เป็นวัดที่ทั้งหลายได้อบรมธรรมมาโดยลำดับ และเป็นวัดเก่าแก่ก่อนวัดธรรมยุตทั้งหมดในเขต 17 จังหวัดของภาคอีสาน เว้นจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดเลยเท่านั้น อีกทั้งวัดนี้พระคณาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานที่เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เคยมาจำพรรษาเกือบแทบทุกองค์ และมีคนนับถือก็มาก คนแถวนี้รู้จักวัดอรัญญวาสีทั้งนั้น สมควรที่จะบูรณะให้สมฐานะเป็นเครื่องระลึกถึงพระบูรพาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งเคยได้มาประพฤติธรรมอยู่ ณ ที่นี้ นับเป็นโชคดีของพี่น้องซาวอำเภอท่าบ่อและอำภอไกล้เคืยงที่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานะในคณะของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนสามารถตั้งเป็นวัดขึ้นมาได้ ดั่งเห็นเด่นชัดอยู่ในขณะนี้ ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ที่เขาปรารถนาอยากจะพบเห็น อยากจะกราบไหว้พระกัมมัฏฐานแทบน้ำตากระเด็น ก็ไม่ได้พบเห็น ทั้งได้พระอุโบสถแบบภาคอีสานของเราเองให้เป็นเครื่องระลึกถึงบูรพาจารย์อีกด้วย  ซึ่งเป็นของหายากในภาคอีสานทั้ง 17 จังหวัด ดังกลำวแล้ว ขอให้ทุกคนจงพากันตั้งใจปฏิบัติและรักษาไว้ให้ถาวรนานเท่านานตลอดลูกหลานจะได้ชมต่อไป พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เมตตาเขียนประวัติของวัดอรัญญวาสี เมื่อ พ.ศ. 2529



















วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

จังหวัดหนองคาย อบรมคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนไทย-ลาว ประจำปี 2563

วันที่ 11 ก.ย. 63 ที่ห้องประชุมโขงอายส์วิลล่า รีสอร์ทแอนด์สปา ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในการเปิดการอบรมตามโครงการเพิ่มศักยภาพคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนไทย-ลาว ประจำปี 2563 พร้อมด้วย พันเอกณัฐพงศ์ พรมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, คณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ผู้มีเกียรติร่วมกิจกรรม โดยมี นายวรรณพล ต่อพล ปลัดจังหวัดหนองคาย กล่าวรายวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ ครั้งนี้





ด้วยบทบันทึกของการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย-ลาว จังหวัดหนองคาย นครหลวงเวียงจันทน์ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยระดับอำเภอกับเมือง ฝ่ายละไม่เกิน 9 คน จังหวัดหนองคาย ได้มีคำสั่งที่ 2117/2561 ลงวันที่ 1พฤษภาคม 2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดน ด้านนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการและปลัดอำเภอ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน โดยมีหน้าที่ประสานงานและร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชายแดน 




จังหวัดหนองคาย โดยที่ทำการปกครองจังหวัด จึงได้บูรณาการโครงการเพิ่มศักยภาพคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อย ประจำปี 2563 เพื่อให้คณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนไทย-ลาว และผู้รับผิดชอบงานการสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับพื้นที่ จังหวัด/อำเภอ มีความเข้าใจในวิถีชายแดน วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติในระดับพื้นที่ของทั้งสองประเทศให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชายแดนร่วมกัน  เพื่อให้คณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนไทย-ลาว ได้มีความรู้ในโยบายรัฐบาล ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน และการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัดชายแดนไทยกับจังหวัดชายแดนประเทศรอบบ้านในด้านการพัฒนาสังคม  ทั้งด้านการพัฒนาสาธารณสุขชายแดน  ด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนด้าวัฒนธรรม  รวมทั้งการค้าชายแดนและการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และเพื่อให้เกิดเครือข่ายสานสัมพันธ์ความเข้าใจอันดี ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างอำเภอของจังหวัดหนองคาย กับเมืองของ สปป.ลาว  ให้มีความต่อเนื่อง  และกระชับความสัมพันธ์อันดีต่อกัน นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในระดับชุมชน









การดำเนินโครงการฯ ได้จัดให้มีการบรรยายแลกเปลี่ยนทัศนคติในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับเกียรติจาก พันเอกณัฐพงศ์ พรมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นวิทยกร โดยมีคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดน จำนวน 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองหนองคาย  อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม และอำเภอรัตนวาปี ร่วมโครงการฯ










จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...