วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เร่งทำงานเชิงรุก ลุยฉีดวัคซีนพื้นที่เทศบาลตำบลหนองปลาปาก ให้แก่ผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ พร้อมแจกน้ำมันพืชและน้ำตาลทราย คนละ 1 ชุด จูงใจคนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรก ฉีดปุ๊บรับปั๊บ

วันที่ 19 ต.ค. 2564 ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาโพธิ์ หมู่ 4 ต.ตำบลหนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายทศพล สินยบุตร นายอำเภอศรีเชียงใหม่  พร้อมด้วยนายจรัล กลางประดิษฐ ปลัดอาวุโสฯ, นายแพทย์แหลมทอง แก้วตระกูลพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่, นายอรรคเดช บทมาตร รองสาธารณสุขอำเภอศรีเชียงใหม่ (รักษาราชการแทนสาธารณสุขอำเภอศรีเชียงใหม่), นายธนกฤต มณีรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองปลาปาก , นางสายรุ้ง กวยอภัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาโพธิ์ , เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฉีดวัคซีนเชิงรุกเข็มแรกซิโนแวค ให้ชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขี้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมทั้งประชาชนอายุ 18-59 ปี ในเขตพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ของเทศบาลตำบลหนองปลาปาก ได้แก่ หมู่ 4 บ้านนาโพธิ์, หมู่ 7 บ้านเสียว และหมู่ 8 บ้านดงบัง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งสามหมู่บ้าน 



ขณะเดียวกัน ยังได้ออกปฏิบัติการปูพรมค้นหาฉีดวัคซีนชิโนแวคเข็มแรก เชิงรุกตามหมู่บ้านให้แก่กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ที่ไม่สามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้ เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามเป้าหมายของจังหวัดหนองคาย ร้อยละ 80 ให้ทันก่อนเปิดเมือง "Nong Khai Sandbox" หรือ "หนองคายสบายดี"  เพื่อเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย โดยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก รวมทั้งสิ้น 250 คน




นอกจากนี้เทศบาลตำบลหนองปลาปาก ยังได้นำน้ำมันพืชและน้ำตาลทราย แจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนฯคนละหนึ่งชุดฟรี เพื่อจูงใจคนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 และเป็นการกระตุ้นให้คนออกไปฉีดวัคซีน เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนและเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนออกมาให้มากที่สุด ฉีดวัคซีนเสร็จแล้วก็เข้ารับน้ำมันพืชและน้ำตาลทรายทันที



ทั้งนี้อำเภอศรีเชียงใหม่ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกหน่วยบริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก ไปตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ทั้ง 6 แห่ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ให้ครบตามเป้าหมายต่อไป











วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรก สร้างภูมิคุมกันเชิงรุกตามหมู่บ้านให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนอายุ 18-59 ปี

วันที่ 18 ต.ค. 2564 นายทศพล สินยบุตร นายอำเภอศรีเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายจรัล กลางประดิษฐ ปลัดอาวุโสฯ , นพ.แหลมทอง แก้วตระกูลพงษ์ ผอ.โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ และปลัดอำเภอฯ นำทีมแพทย์ พยาบาล กลุ่มงานเภสัชกรรมของโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ออกปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนชิโนแวค เข็ม 1 เชิงรุก ให้แก่กลุ่ม 608 ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป รวมทั้งประชาชนทั่วไปอายุ 18 - 59 ปี 



สำหรับการออกหน่วยฉีดวัคซีนครั้งนี้ ได้ดำเนินการตระเวนไปตามโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ทั้ง 6 แห่ง ใน 4 ตำบล ของอำเภอศรีเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ รพ.สต., อสม. กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, แพทย์ประจำตำบล อำนวยความสะดวกในการจัดคิวและแบ่งจุดนั้งรอ วัดความดัน และจุดฉีดวัคซีน ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่นั่งรถวิลแชร์ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 300 คน





นอกจากนี้ยังได้จัดหน่วยออกปฏิบัติการปูพรมค้นหาฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ไม่สามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้ เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามเป้าหมายของจังหวัดหนองคาย โดยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีน เข็ม 1 รวมทั้งสิ้น 240 คน ทั้งนี้อำเภอศรีเชียงใหม่ ได้ดำเดินการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก แก่กลุ่ม 608 ไปแล้ว 65 %












วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564

รมช.กระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะลงพื้นที่หนองคายติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปัญหาร้านโชวห่วย และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

วันที่ 15 ต.ค. 2564 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จากนั้น ไปเยี่ยมชมและติดตาม ร้าน ต.โต๊ดการค้า ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกภายในตลาดแจ้งสว่าง อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อรับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะ  พร้อมสั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดันให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ให้การสนับสนุนมั่นใจ โชวห่วยไทยต้องเป็นธุรกิจที่คู่สังคมไทย โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะให้การต้อนรับ


โดยได้ตรวจเยี่ยมร้านโชวห่วย ต.โต๊ด การค้า ที่บริเวณตลาดแจ้งสว่าง ต.หนองกอมเก่าะ อ.เมือง จ.หนองคาย จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่ ตรวจติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประชาสัมพันธ์โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ปี 3 และมาตรการคู่ขนานเยี่ยมชม ณ ศาสาเอนกประสงค์เทศบาลตำบลหาดคำ อ.เมืองหนองคาย ก่อนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและพบปะผู้ประกอบการ GI กล้วยตากสังคม  ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ร้านแม่อารักษ์ อำเภอสังคม  ซึ่งจำหน่ายกล้วยตากสังคม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว  สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 300,000 บาทต่อเดือน  มียอดการผลิตปีละกว่า 25,000 กิโลกรัม สร้างรายได้ปีละกว่า 3,750,000 บาท อ.สังคม จ.หนองคาย มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย จำนวน 417 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกกล้วย  3,658 ไร่ มีผลผลิตต่อปีกว่า 4,352,000 หวี คิดเป็นมูลค่าทางการค้าต่อปีกว่า 43,520,000 บาท  โดยเกษตรกร อ.สังคม ตั้งกลุ่มแปรรูปกล้วย 6 กลุ่ม มีสมาชิก 159 ราย แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ กล้วยตากสังคม  กว่า 3,500 กิโลกรัมต่อปี มีมูลค่าทางการค้ากว่า 735,000 บาทต่อปี มีช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และมีทั้งผ่านตัวแทนจำหน่าย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  นอกจากนี้ยังพบว่าที่จังหวัดหนองคาย ยังมีสินค้าหลายชนิดที่สามารถขึ้นทะเบียน GI ได้ และเตรียมผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน อาทิเช่น    สับปะรดศรีเชียงใหม่ เป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีลักษณะเด่นคือ ผลทรงรี ร่องตาตื้น เปลือกบาง เส้นใยละเอียด สีเหลือเข้ม(น้ำผึ้ง) กลิ่นหอม รสชาติหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งแกน อ.ศรีเชียงใหม่มีเกษตรปลูกสับปะรด 301 ราย มีพื้นที่ปลูก 4,100 ไร่ ผลผลิตรวมกว่า 15 ตัน มีมูลค่าทางการค้ากว่า 105-165 ล้านบาท จำหน่ายทั่วไป และอีกประเภทคือปลานิลในกระชังเลี้ยงในแม่น้ำโขง ซึ่งในอนาคตจะเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดหนองคาย เนื่องจากมีการเลี้ยงปลานิลกระชังแม่น้ำโขงจำนวนมาก ในพื้นที่ อ.เมืองหนองคาย อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.ท่าบ่อ มีกว่า 2,990 กระชัง มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 194 ราย ผลผลิตกว่า 11,066 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางการค้ากว่า 861.12 ล้านบาท ซึ่งส่งจำหน่ายทั่วไป ซึ่งลักษณะเด่นของปลานิลเลี้ยงในกระชัง แม่น้ำโขง คือ มีเนื้อแน่น ไขมันน้อย ไม่มีกลิ่นโคลน รสชาติดีเนื่องจากเลี้ยงในน้ำไหล เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีศักยภาพที่อาจผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ได้




นายสินิตย์  เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI โดยมอบหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการตรวจสอบเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะของสินค้า และเตรียมผลักดันเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน เช่น กล้วยตากสังคม เป็นสินค้า GI ของธุรกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและรักษาคุณภาพการผลิตด้วยระบบการคุ้มครอง GI อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสินค้าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนส่งเสริมในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและครบวงจร อาทิ การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า การส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และการเชื่อมโยงเอกลักษณ์สินค้ากับแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนที่มีสินที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเชื่อมโยงแหล่งภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถติดต่อขอยื่น จดทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ 


ฤาษีลภ-ปวีณา// จ.หนองคาย


'สุพัฒนพงษ์' ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เขตตรวจราชการที่ 10

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564  วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมเทวาภิบาล ศาลากลางจังหวัดหนองคาย ชั้น 4 อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด พื้นที่เขตตรวจราชการที่ 10 ได้แก่ จังหวัดหนองคาย เลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านต่าง ๆที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2564  งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรับทราบปัญหาต่างๆ  โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะให้การต้อนรับ



สำหรับการประชุมครั้งนี้ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง งบรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี และปัญหาสำคัญในภาพรวมของจังหวัด ได้แก่ การค้าชายแดน ยาเสพติด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การดำเนินงาน Nongkhai  Sandbox  และภัยพิบัติ โดยจังหวัดหนองคาย ได้รับงบประมาณ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้  โครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดหนองคาย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทมธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร แหล่งอาหารเพื่อชุมชนพ้นภัยวิกฤติโควิด 19 โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผ้าฝ้าย ผ้าไหม โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการตลาด ภายใต้วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ภายใต้วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืนสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง และโครงการถังหมักประสิทธิภาพสูงเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ในระบบชุมชน จากเศษอาหารสู่สารบำรุงพืชและพลังงาน


นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รายงาน ประเด็นการค้าชายแดน ปี 2564   สถานการณ์ยาเสพติด สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การดำเนินการ หนองคาย Sanbox และปัญหาภัยพิบัติ ก่อนที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าและความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน และ สปป.ลาว ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย 



โดยนายสุพัฒนพงษ์  กล่าวว่า การที่รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธ.ค. 64 แม้เส้นทางดังกล่าวจะยังไม่เชื่อมต่อโดยตรงกับประเทศไทย แต่ไทยก็ต้องเตรียมการรองรับเพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อม มีความเชื่อมั่นต้องทำให้สมบูรณ์ ทั้งการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งเดิมนั้นมีการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศสายหนองคาย-ท่านาแล้ง และการขนส่งทางรถยนต์ผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้น จังหวัดหนองคายต้องเตรียมการด้วยการจัดทำแผนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ก่อนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณากับกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ทันที  สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเปิดประเทศ คือการทำให้ปลอดโรค ปลอดภัย มีการจัดการคมนาคมที่เป็นระบบ ไม่ให้เกิดการแออัดบนสะพาน และพิจารณาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาจจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น

ฤาษีลภ-ปวีณา//ผู้สื่อข่าวภูมิภาค ประจำจังหวัดหนองคาย 


จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...