วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ร้านขนมหวานและน้ำหวานเก่าแก่ ราคา 10 บาทใน อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ยังคงยืนยันขายขนมหวานและน้ำหวานราคาเดิม แม้ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาล มะพร้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลัก

วันที่ 27 มิ.ย. 2565 ร้านขายขนมหวานและน้ำหวานริมแม่น้ำโขง หน้าวัดท่าทรายสะอาด บ้านหัวทราย หมู่ที่ 12 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นร้านขายขนมและน้ำหวานเก่าแก่ในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ ที่ขายราคา 10 บาทมานานกว่า 20 ปี ยังคงขายขนมหวานและน้ำหวาน เพียง 10 บาท เช่น หวานเครือหมอน้อย , หวานรวมมิตร , น้ำหวานใบบัวบก , น้ำกระเจี๊ยบ , น้ำลูกตาล โดยเฉพาะหวานเครือหมอน้อย ที่ลูกค้านิยมซื้อไปรับประทานมากที่สุด แม้วัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำตาลและมะพร้าว ปรับตัวสูงขึ้น




นางบุษบง สิทธิชัย อายุ 68 ปี เจ้าของร้านที่สืบทอดมาจากมารดา เปิดเผยว่า ตนยังคงจำหน่ายขนมหวานและน้ำหวานในราคา 10 บาทมานานกว่า 20 ปีแล้ว แม้ราคาวัตถุดิบจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลและมะพร้าว แต่ละวันต้องใช้น้ำตาลประมาณ 6 กิโลกรัม จากเดิมราคากิโลกรัมละ 25 บาท ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 30 บาท และมะพร้าวต้องใช้วันละ 6 ลูก จากที่เคยซื้อลูกละ 5 บาท ขณะนี้ราคา 10-15 บาท/ลูก แต่ก็ยังไม่ขึ้นราคาที่ขายมานาน โดยยอมขาดทุนกำไร เพราะขนมหวานขายหมดทุกวัน



โดยช่วงที่วัตถุดิบไม่ขึ้นราคา จะมีรายได้ 600 บาท - 700 บาท/วัน ขณะนี้มีรายได้ 300 บาท - 400 บาท/วัน แต่หากขึ้นราคากลัวจะกระทบต่อลูกค้า ที่สำคัญค่าเช่าที่ก็ไม่เสีย คิดว่าขายพอมีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งขาจร และขาประจำ ทั้งในพื้นที่และพื้นที่ค้างเคียง รวมทั้งลูกค้าในตัวเมืองหนองคาย จึงไม่ต้องการเอาเปรียบลูกค้า โดยเฉพาะหวานเครือหมอน้อย (เครือหมาน้อย) ลูกค้านิยมซื้อไปรับประทาน เพราะมีสรรพคุณช่วยคลายร้อนได้ดี 






วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ชมรมเปตองอำเภอศรีเชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.หนองคาย จัดการแข่งขันกีฬาเปตองต้านยาเสพติด ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยรางวัลและเงินรางวัลกว่า 20,000 บาท

วันที่ 25 มิ.ย. 2565 ที่ สนามเปตอง ซอย 11 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ดร.สมเกียรติ ตระกูลฟาร์มธวัช รองนายก อบจ.หนองคาย เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาเปตองต้านยาเสพติด ครั้งที่ 7 ประจำปี 2565 ที่ชมรมเปตองอำเภอศรีเชียงใหม่ ร่วมกับ อบจ.หนองคาย จัดการแข่งขันขึ้น  โดยมี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนักกีฬาเปตองทั้งชาวไทย และสปป.ลาว ร่วมพิธีเปิดฯจำนวนมาก






นายเสถียร มีบุญ รองประธานสภา อบจ.หนองคาย ในฐานะประธานชมรมเปตองอำเภอศรีเชียงใหม่ กล่าวว่า  ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเล่นกีฬาเปตองและการออกกำลังกายให้กับยุวชน เยาวชน ตลอดจนประชาชนในจังหวัดหนองคาย รวมถึงการค้นหานักกีฬา เพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดหนองคาย เข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งในระดับภาค และระดับประเทศ จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง  สำหรับนักกีฬาทั้งหลาย ที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป  อีกทั้งยังเป็นการให้ยุวชน   เยาวชน และประชาชนมีสุขภาพกายที่แข็งแรงสมบูรณ์มีจิตใจที่เข้มแข็งและห่างไกลยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอีกด้วย




สำหรับกีฬาเปตอง ได้จัดการแข่งขันในประเภทประชาชนทั่วไป ชิงถ้วยรางวัลและเงินรางวัล แบ่งเป็น รางวัลที่ 1 รับเงินรางวัล 20,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัล, รางวัลที่ 2 รับเงินรางวัล 7,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัล, รางวัลที่ 3 รับเงินรางวัล 3,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลที่ 4 รับเงินรางวัล 2,000 บาทพร้อมถ้วยรางวัล โดยมีทีมสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งไทยและสปป.ลาว กว่า 40 ทีม ทำการแข่งขันรวม 25 สนาม










จ.หนองคายเตรียมสร้างองค์พญานาคริมโขง เป็นแลนด์มาร์คแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมมีแผนพัฒนาศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดหนองคาย ให้เป็น OTOP Center ( One Stop Service ) ด้วยให้ผู้สนใจเข้าประมูลพื้นที่เช่าจำหน่ายสินค้า และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ GI หนองคายจ.หนองคายเตรียมสร้างองค์พญานาคริมโขง เป็นแลนด์มาร์คแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมมีแผนพัฒนาศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดหนองคาย ให้เป็น OTOP Center ( One Stop Service ) ด้วยให้ผู้สนใจเข้าประมูลพื้นที่เช่าจำหน่ายสินค้า และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ GI หนองคาย

วันที่ 24 มิ.ย. 2565  ที่ ศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดหนองคาย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์วัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย มอบหมายให้ นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเวทีสัมมนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ในกิจกรรม “ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และหัวหน้าส่วนราชการ พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 2” ประจำปี 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ สร้างการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย จัดขึ้น โดยมีเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดหนองคาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม




นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จ.หนองคายมีแผนยุทธศาสตร์ในการเตรียมที่จะสร้างพญานาค ณ บริเวณพระธาตุหล้าหนอง สำหรับสร้างเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.หนองคาย ซึ่งถือเป็นสิริมงคลแก่ชาว จ.หนองคาย รวมถึงเป็นการสร้างสัญลักษณ์เมืองการค้าเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับองค์พญานาคที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ดูแลปกปักรักษาแถบลุ่มน้ำโขง ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ยังเชิญชวนประชาชนชาวหนองคาย ร่วมกันส่งเสริมผลผลิตภัณฑ์ GI หนองคาย เช่น กล้วยตาก GI อ.สังคม และ สับปะรด GI  อ.ศรีเชียงใหม่ 




นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคาย ยังมีแผนจะปรับปรุงศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศูนย์ OTOP Center (One  Stop  Service)   โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลพื้นที่เช่าศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2565 - วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เพื่อเพิ่มช่องทางและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP  โดยจะมี OTOP MART, OTOP  ชวนชิม และ OTOP Academy เป็นจุดบริการด้านท่องเที่ยว เช่น สำนักงานออกหนังสือเดินทาง, จุดบริการแรงงาน , สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ รวมทั้งการบริการของภาคเอกชน เช่น ร้านอาหาร กาแฟ ร้านค้าชั่นนำ สิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวครบวงจร นอกจากนี้ยังมีตลาดชุมชนคนหนองคาย ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ของทุกสัปดาห์ , การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP  และกิจกรรมต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน










วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯหนองคาย ตรวจความพร้อมจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ รองรับการเปิดจุดผ่อนปรนฯหลังโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คาดมูลค่าการส่งออกกว่า 200 ล้านบาท/ปี

วันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ อาคารบริการประชาชนจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนบ้านหม้อ หมู่ที่ 8 ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายณัฐวัสส์  วิริยานภาภรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในการประชุมตรวจติดตามเพื่อบริหารจัดการจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนบ้านหม้อ โดยมี นายพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองคาย , ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี นายอำเภอศรีเชียงใหม่ , น.อ.ราฆพ เทวะประทีป ผบ.นรข.เขตหนองคาย , นายพิทยา ชำนาญเนียม ปลัดอาวุโสอำเภอศรีเชียงใหม่, พ.ต.ท.ธียามพัตท์ รังสิพราหมณกุล รอง ผกก.ตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย , นายพิทูร ศรีอินทร์งาม ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรที่ 1, เภสัชแพทย์ไพรัตน์ ประทุมทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดจุดผ่อนปรนฯ หากกระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นี้ ซึ่งทางอำเภอศรีเชียงใหม่ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดจุดผ่อนปรนฯในทุกๆด้าน ทั้งสถานที่ เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ และมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยที่ผ่านมาจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้าน สปป.ลาว ได้มีคำสั่งระงับการเดินทางเข้าออกชั่วคราว ทั้งบุคคลและสินค้าส่งออก เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มีการผ่อนผันเฉพาะการขนถ่ายสินค้านำเข้าส่งออก ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย เท่านั้น







ทั้งนี้จุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย กับ ด่านประเพณีหนองดา (เก้าเลี้ยว) เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์ ได้เปิดทำการครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 เปิดทำการเพียง 2 วัน ต่อสัปดาห์ เมื่อปี 2556 ได้เปิดเพิ่มเป็น 3 วัน ต่อสัปดาห์ มีราษฎรทั้งสองฝั่งเดินทางเข้า-ออก เฉลี่ยวันละ 120 คน ซึ่งอำเภอศรีเชียงใหม่ได้มีมาตรการควบคุมตรวจตราบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย






ส่วนด้านการค้าชายแดน ณ จุดผ่อนปรนฯบ้านหม้อ มีมูลค่าการค้าปรับตัวขึ้นสูงทุกปี สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภค และสินค้าทางการเกษตร ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพืช ผัก ผลไม้ ส่งออกไปยัง สปป.ลาว มีมูลค่า 700,000 บาท - 1,200,000 บาท/วัน หรือกว่า 4,000 ตัน/ปี ซึ่งมีแต่สินค้าส่งออก ไม่มีสินค้านำเข้า



โดยก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้ร่วมกับ เมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์ เปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าฯและด่านประเพณี จาก 3 วัน เพิ่มเป็น 6 วันต่อสัปดาห์  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าขึ้นเท่าตัว อีกทั้งช่วยลดการจราจรจากที่บริเวณด่านพรมแดนมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ในการระบายสินค้าออกได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหากมีการประกาศโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และมีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าฯแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจการค้าชายแดนเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะผลไม้ส่งออกจากไทย ที่มีความต้องการสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าผ่านจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนบ้านหม้อ นับกว่า 200 ล้านบาท/ปี 




จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...