เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่ โรงแรมหนองคายธาวิลล่า อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย กรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 2 และปัจฉิมนิเทศ “โครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย" โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรม มีนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ปัจจุบัน มีพื้นที่ของลุ่มน้ำห้วยโมง ค่อนข้างกว้าง 2678 ตารางกิโลเมตร ลำน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำดังกล่าว มีลำน้ำสายหลักคือ ห้วยโมง มีต้นกำเนิดที่ภูชาน จังหวัดเลย ไหลผ่านจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ลงแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งปริมาณลุ่มน้ำที่ไหลผ่านลำน้ำสายหลักดังกล่าว ประมาณ 800 ล้าน ลบ. เมตร ต่อปี จากการวิเคราะห์แล้วพบปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือต้นน้ำเป็นพื้นที่สโลปค่อนข้างชัน ฝนตกลงมาก็เกิดการกัดเซาะในพื้นที่ต้นน้ำค่อนข้างมาก ตอนกลางมีลำน้ำที่ค่อนข้างคดเคี้ยวและขนาดเล็ก ทำให้เกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ส่วนปลายน้ำมีอิทธิพลของน้ำโขง ช่วงฤดูฝนปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ส่งผลต่อการระบายน้ำที่ผ่านประตูห้วยโมง เพื่อให้เกิดการยั่งยืนของลุ่มน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้มีแนวทางการศึกษาการแก้ปัญหาในภาพรวมของลุ่มน้ำ ในทุกมิติ ทั้งแล้ง ทั้ง อุทกภัย ทั้งหมด 269 โครงการ ที่จะเร่งรัดดำเนินการ เพื่อดำเนินแก้ปัญหา 3 โครงการ โครงการแรก แหล่งน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำห้วยทอน ซึ่งเก็บกักน้ำได้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำในพื้นที่ของห้วยทอนเอง ประมาณ 2,800 ไร่ และส่งไปที่ฝายห้วยทอน 2,400 ไร่ และดำเนินการวางโครงการเป็นลักษณะฝายพับได้ เพิ่มความจุประมาณ 1 เมตร เพื่อสามารถเก็บกักน้ำได้อีก 3.65 หรือประมาณ 10 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำในพื้นที่ได้อีกประมาณ 1,500 ไร่ โครงการที่สอง คือปัญหาตรงกลางลำน้ำ ที่คดเคี้ยว และขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตร กรมชลประทาน จะมีการขุดขยายคลองเพื่อการระบายน้ำ สร้างประตู 2 จุด คือบ้านโนนวารี และบ้านนาข่า จำนวน 7 ช่อง เพื่อรองรับการระบายน้ำ ลงแม่น้ำโขง ผ่านประตูระบายน้ำห้วยโมง และบางส่วนเก็บกักอยู่ในลำน้ำห้วยน้ำโมง แต่จากความตื้นเขินของแหล่งน้ำตามธรรมชาติทำให้ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่การเกษตรของราษฎรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง กรมชลประทานเล็งเห็นความสำคัญ จึงให้มีการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยน้ำโมงเพื่อจัดทำแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง และทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการที่มีความสำคัญที่สุดตามลำดับการศึกษาแผนหลัก พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย ได้มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร รวมไปถึงการปรับปรุงระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดปัญหาอุทกภัยในช่วงน้ำหลากได้ ปัจจุบันการศึกษาความเหมาะสม ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจและออกแบบเบื้องต้น คาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการฯ ได้ในปี 2568
สำหรับแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อบรรเทาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ซึ่งได้คัดเลือกโครงการที่มีความสำคัญ 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านบางกอกน้อย ตำบลด่านศรีสุขอำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย,โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง จุดเริ่มต้นบ้านโพธิ์ตาก ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย สิ้นสุดบ้านโก่ม ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง ประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านโนนวารี และประตูระบายน้ำบ้านนาข่า และโครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก จุดเริ่มต้นรับน้ำจากห้วยลานที่บ้านดอนขม ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และจุดสิ้นสุดออกแม่น้ำโขงที่บ้านเวียงคุก ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ด้าน นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า มีการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยน้ำโมง น่าจะช่วยเสริมเรื่องคุณภาพชีวิตชาวหนองคายที่อยู่ปลายลำน้ำโมงให้ดีมากยิ่งขึ้น ที่มีอยู่ปัจจุบันก็ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากมีการพัฒนา ศักยภาพการเก็บกักน้ำ มีช่องทางระบาย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็จะช่วยประชาชนได้ดีขึ้น ประชาชนประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก มิติการใช้น้ำมีความจำเป็นอย่างมาก การบริหารจัดการน้ำในห้วงของน้ำที่มีเหลือ ไว้ใช้ในหน้าแล้ง กรณีการสูบน้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ เพื่อช่วยให้พี่น้องมีทรัพยากร มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น ตรงนี้มีส่วนสำคัญมากๆ ต้องขอบคุณกรมชลประทาน ได้สื่อสารพี่น้องประชาชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อยากเห็นน้ำโขง ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของบ้านเรา ให้เลี้ยวขวาเข้ามาบ้านเราให้มากๆ เพื่อนำน้ำโขงไปใช้ประโยชน์ ซึ่งชลประทานโครงการนี้ หรือโครงการที่ทำโพนพิสัย ก็ตอบโจนท์เรื่องนี้อยู่แล้ว รอเวลาความสำเร็จเรื่องนี้อยู่ ในขณะเดียวกันเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพิ่มช่องทางระบายในหลาย ๆ ส่วนด้วย เติมเต็มในส่วนของเวียงคุก ที่ถัดจากท่าบ่อลงมา ก็เพิ่มช่องทางเก็บกักน้ำ สูบน้ำให้มากยิ่งขึ้น การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า พี่น้องประชาชนเห็นความสำคัญเรื่องน้ำ ฝากถึงประชาชน น้ำคือชีวิต การใช้น้ำอย่างเต็มกำลังให้เกิดประโยขน์สูงสุดได้ จะคุ้มค่ามาก ๆ การมีส่วนร่วมของประชาชนมีความจำเป็น ทั้งในเรื่องของหลักการ เป็นโอกาสในการนำเสนอ เป็นโอกาสให้ข้อคิดเห็น จากข้างล่างขึ้นข้างบน ค่อนข้างจะชัด ส่วนราชการต่าง ๆ นำข้อคิดเห็น นำข้อเสนอแนะ ไปสู่การปฏิบัติ ไปสู่การขับเคลื่อนตามแนวทางที่ทางภาครัฐต้องการ จะเป็นประโยชน์ที่สอดคล้อง สอดรับกันเป็นอย่างมาก ความคิดเห็นพี่น้องประชาชนมีส่วนสำคัญ สามารถตอบโจทย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการ