วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

แม่น้ำโขงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ทต.กองนางเร่งนำกระสอบทรายอุดท่อลอดทางหลวง ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนใน

ระดับแม่น้ำโขงหนองคายเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จนไหลหนุนคลองห้วยมาง เทศบาลตำบลกองนางร่วมกับเขื่อนห้วยโมงและชาวบ้าน นำกระสอบทรายอุดท่อลอดทางหลวงขนาด 1.50 เมตร ป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ตอนในของ ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย


วันที่ 10 ส.ค.2566 เวลา 13.30 น. ที่บริเวณริมทางหลวง หมายเลข 211 เส้นท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ ช่วงบ้านห้วยมาง หมู่ 12 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายชิงชัย ทิพย์สมบัติ นายกเทศมนตรีตำบลกองนาง พร้อมคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วน พนักงาน ลูกจ้างของเทศบาลฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง (เขื่อนห้วยโมง)  และชาวบ้านในพื้นที่ทำการกรอกกระสอบทรายมาปิดท่อลอดขนาด 1.50 เมตร ที่เป็นท่อลอดทางหลวงเพื่อทำแนวป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่บ้านป่าสักใต้ หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 9 และบ้านหนองยางคำ หมู่ที่ 13 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย



โดยท่อลอดดังกล่าว เป็นท่อลอดขนาดใหญ่ ไม่มีประตูปิดเปิดน้ำ เป็นท่อขนาดใหญ่ที่ระบายน้ำจากคลองห้วยอินและหนองเลิงแข้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งในตอนนี้น้ำในคลองห้วยมางเริ่มเพิ่มสูง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นที่ 11.35 เมตร ทำให้น้ำโขงหนุนเข้าคลอง จ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนทั้งสามหมู่บ้านที่อาศัยอยู่อีกฝากฝั่งถนน จึงได้เร่งนำกระสอบทราย เพื่อปิดกั้นป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างเร่งด่วน



พร้อมกันนี้เพื่อความไม่ประมาทเทศบาลดำบลกองนาง ยังได้ใช้กระสอบทรายอุดตามท่อระบายน้ำ ป้องกันน้ำในแม่น้ำโขงดันเข้ามาท่วม บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำ โดยได้วางกระสอบทรายปิดปากท่อระบายน้ำตลอดแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงดังกล่าว โดยขณะนี้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหนองคายเริ่มที่จะลดลง 1 ชม./ชั่วโมง ตามการคาดการณ์เริ่มลดลงในวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป 












ทหารเรือหนองคายช่วยชาวไร่เก็บฝักข้าวโพดหนีน้ำท่วม หลังแม่น้ำโขงเอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรดอนเขียว


ทหารเรือมาช่วยแล้ว! จนท.สถานีเรือศรีเชียงใหม่ ขรข.เขตหนองคาย เข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดริมโขงหนองคาย ลุยเก็บฝักข้าวโพดหนีน้ำท่วมหลังแม่น้ำโขงเอ่อล้นท่วมพื้นที่ทำการเกษตรดอนเขียว  ชาวไร่โอดเจอน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 7 ปี หวังได้เงินครึ่งล้าน มาปีนี้ขาดทุนยับเยิน ได้แต่เก็บฝักข้าวโพดขายเมล็ดพันธุ์ใช้หนี้โรงงาน


วันที่ 10 ส.ค. 2566 นาวาเอก จิรัฏฐ์ ผูกทอง ผู้บังคับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตหนองคาย(ผบ.นรข.เขตหนองคาย) สั่งการให้กำลังพลของสถานีเรือศรีเชียงใหม่ นำเรือท้องแบน จำนวน 1 ลำ เข้าช่วยเหรือเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดบริเวณพื้นที่ดอนเขียวริมแม่น้ำโขง บ้านห้วยมาง หมู่ 12 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย  หลังจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่วานนี้( 9 ส.ค.) เฉลี่ยชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร จนมีปริมานน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมพืชผลเกษตรที่กำลังให้ผลผลิตของเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดริมแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำได้เอ่อเข้าท่วมได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรก่อนถึงกำหนด หากไม่เก็บเกี่ยวก่อนน้ำท่วมเสียหายหมด




นายวิเชียร ทะอ่าง อายุ 56 ปี เจ้าของไร่ข้าวโพด กล่าวว่า ตนลงทุนทำไร่ข้าวโพด จำนวน 20 ไร่ เป็นเงินเกือบ 200,000 บาท ขณะนี้ต้องรีบเก็บเกี่ยวเอาผลผลิต แม้ว่าบางส่วนจะยังไม่แก่พอจะเก็บเกี่ยวก็ตาม เพราะแม่น้ำโขงได้เอ่อเข้าท่วม ได้รับความเสียหายไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มถูกน้ำท่วมตั้งแต่ระดับเอว จนถึงระดับถึงคอ และมิดศรีษะ เจ้าของไร่บางรายต้องลอยคอลุยเก็บฝักข้าวโพดที่พอจะเก็บได้ ส่วนของตนต้องจ้างคนงานลุยน้ำลงไปหักฝักข้าวโพดที่น้ำท่วมเพียงแค่ 20-40 เซ็นติเมตร ประมาณ 5-6 ไร่ เอาใส่กระสอบปุ๋ยและบรรทุกลงเรือท้องแบนของทหารเรือ นรข.เขตหนองคาย เพื่อนำขึ้นไปเก็บไว้และตากให้แห้งรอขายเมล็ดพันธุ์ใช้หนี้กิโลกรัมละ 1,000 บาท ให้กับเจ้าของโรงงานผลไม้กระป๋อง ที่ตนไปซื้อมาลงทุน



นายวิเชียร เจ้าของไร่ข้าวโพด กล่าวอีกว่า เมื่อช่วงสองวันที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเอ่อไหลเข้าท่วมไร่ข้าวของชาวบ้านจำนวนกว่า 1,900 ไร่ไปแล้วในเวลานี้  ถือว่าหนักสุดในรอบ 6-7 ปี  ซึ่งแต่ละปีตนลงทุนปลูกข้าวโพดขายจะได้กำไลครึ่งต่อครึ่ง เช่นลงทุนไป 1 แสนจะได้กำไล 2 แสน ยิ่งมาปีนี้ราคาข้าวโพดอยู่ที่ 4.50 บาทต่อกิโลกรัม ดีกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 บาท ซึ่งอยู่ที่ 3.50 บาท ตนก็มีความหวังว่าปีนี้ขายข้าวโพดจะได้เงินกว่า 500,000 บาท แต่ตอนนี้ถูกน้ำท่วมหมด ไม่รู้ว่าจะได้เงินเท่าไหร่ ถึง 5-6 หมื่นบาทหรือไม่ ซึ่งถือว่าปีนี้ปลูกข้าวโพดขายขาดทุนยับเยิน แต่ตนจำเป็นต้องจ้างคนงานมาหักข้าวโพดหนีน้ำ ซึ่งพอจะเหลือต้นทุนกลับมาบ้าง ส่วนบริเวณที่อยู่พื้นสูงเล็กน้อยที่น้ำยังท่วมไม่ถึง ตนต้องรีบเก็บเกี่ยวทั้งหมด แม้ว่าอายุข้าวยังไม่แก่เต็มที่ก็ตาม เพราะกลัวน้ำจะเพิ่มระดับสูงและท่วมข้าวโพดไม่เหลืออะไรเลย 












วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ชาวไร่ข้าวโพดริมโขงหนองคาย เร่งเก็บฝักข้าวโพดก่อนจมน้ำโขงเสียหาย

ชาวไร่ข้าวโพดริมโขงหนองคาย เร่งเก็บฝักข้าวโพดหนีน้ำโขงท่วมสูงกว่า 1 เมตร ตัดใส่กระสอบขนขี้นเรือท้องแบนออกไปขายเพื่อทุเลาการขาดทุน ขณะที่จังหวัดหนองคายได้แจ้งเตือนเน้นย้ำประชาชนเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น 10 - 15 ส.ค.66


วันที่ 9 ส.ค. 2566  เวลา 15.00 น. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ดอนเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขงบ้านห้วยมาง หมู่ที่ 12 ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย  ได้นำเรือท้องแบนที่ได้รับการช้วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ กู้ภัย และหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ จำนวน 4 ลำ ได้ลุยน้ำซึ่งมีความสูงกว่า 1 เมตรที่กำลังท่วมขังในไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เพื่อเร่งตัดข้าวโพดใส่กระสอบและทยอยนำออกมาจากสวน เนื่องจากหากปล่อยไว้ข้าวโพดที่แช่อยู่ในน้ำก็จะเน่าเสียและสูญเปล่าทั้งหมด


สำหรับในพื้นที่ดังกล่าวเกษตรกรได้ปลูกข้าวโพดหวานเพื่อส่งโรงงานผลไม้กระป๋อง มีพื้นที่มากกว่า 1,900 ไร่ 



นายยุทธนา ล้ำเลิศ อายุ 37 ปี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด กล่าวว่า พื้นที่ดอนเขียวมีเกษตรกรเข้าไปทำการเกษตร กว่า 150 ราย ได้เก็บผลผลิตที่กำลังใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ได้เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมด โดยเมื่อช่วงเช้าชาวบ้านได้ช่วยกันเก็บมาแล้วรอบหนึ่ง แต่พอถึงช่วงบ่ายไม่สามารถเข้าไปเก็บข้าวโพดได้ เนื่องจากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร  จนมีความสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านเกรงว่าหากปล่อยไว้เงินที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่าทั้งหมด จึงประสานหน่วยงานต่างๆ นำเรือท้องแบนมาให้การช่วยเหลือในการเข้าตัดข้าวโพดออกมาก่อน อย่างน้อยก็ยังสามารถนำมาจำหน่ายได้บ้างบางส่วน ส่วนในจุดที่น้ำท่วมขังสูงไม่สามารถเข้าไปตัดได้ก็ต้องปล่อยให้ข้าวโพดจมน้ำไป



ทั้งนี้จังหวัดหนองคาย ได้แจ้งเตือนเน้นย้ำประชาชนเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น 10 - 15 สิงหาคม 2566 เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง


ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10 - 15 สิงหาคม 2566



โดยสถานีอุทกวิทยาหนองคาย ได้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปัจจุบันมีระดับน้ำ 8.35 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.05 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 3.50 เมตร 


จึงขอให้ประชาชนชาวจังหวัดหนองคาย ระวังผลกระทบจากระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง โดยให้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง  ระมัดระวังการสัญจรและประกอบกิจกรรมทางน้ำในบริเวณแม่น้ำโขง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง ตรวจสภาพกระชังให้มีความมั่นคงแน่นหนา ปรับกระชังปลาให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ และเฝ้าระวังไม่ให้ปลาป่วยตาย หรือน็อกน้ำ  ซึ่งเกิดได้บ่อยเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง







จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...