ผู้ว่าฯหนองคาย พร้อมหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาหัวหน้าส่านราชการ สื่อมวลชน ไป "เสวนาพาเพลิน ล่องเรือชมสวนเกษตรผสมผสาน" ต้นแบบในการลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตลาด สปป.ลาว ตามโครงการผู้ว่าพาไปยาม ครั้งที่ 2 ณ สวนส้มเจ้าจอมขวัญ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ 12 ก.ย. 2566 เวลา 10.00 น. นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาหัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชน ได้จัดเวที "เสวนาพาเพลิน ล่องเรือชมสวนเกษตรผสมผสาน" ตามโครงการผู้ว่าพาไปยาม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดให้มีขึ้น ณ สวนส้มเจ้าจอมขวัญ บ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ 4 ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ของนางสาวฤดี พวงจำปา เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมด้านการเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยมีนางสุวรรณี ศิริวรรณ์หอม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองคาย กล่าวรายงาน นายบัญญัติ บูชากุล หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย ได้รายงานผลการดำเนินงานของสภาเกษตรกรจังหวัด และนายจีระวัฒน์ ศรีบ้านโพน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย กล่าวสรุปผลการเสวนาเรื่อง"ปัญหา อุปสรรค และความต้องการสินค้าเกษตร"
ภายหลังพิธิเปิด นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้มอบพันธุ์ไก่ไข่ให้กลุ่มเกษตรกร จำนวน 3 กลุ่ม เพื่อสนับสนุนด้านอาชีพและขยายผลแนวความคิดความมั่นคงทางอาหาร และพาล่องเรือชมสวนเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ 40 ไร่ ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน หันมาปลูกพืชผสมผสาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายยังได้อาสาเป็นนายท้ายพาล่องเรือเยี่ยมชมสวนเกษตรอีกด้วย
ทั้งนี้สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย เป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร เห็นความจำเป็นในการส่งเสริมให้มีเวทีสำหรับเกษตรกรฐานราก ซึ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรให้ได้แสดงความคิดวิเคราะห์ ค้นหาทางออก วางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการประการต่างๆ ของเกษตรกรแล้วสรุปรวมจัดทำเป็น "แผนพัฒนาอาชีพในระดับตำบล" และขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในแต่ละตำบล เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ "เกษตรกรรวมกลุ่มร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาและแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้เอง" รวมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือพัฒนา และแก้ปัญหาที่เกินกำลังความสามารถของเกษตรกรต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบลของจังหวัดหนองคาย ได้ขับเคลื่อนใน 41 ตำบล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 - 2566 และได้ขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา และพัฒนาศักยภาพกลุ่ม จำนวน 70 กลุ่ม รวมจำนวนสมาชิก 2,950 คน
ส่วนในด้านของสภาเกษตรกร สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรทั้ง 9 อำเภอ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ใด้จำนวนสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดหนองคาย จำนวน 23 คน ประกอบด้วย สมาชิกประเภทผู้แทนเกษตรกรที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 16 คน สมาชิกประเภทผู้ทรงคุณวุฒิในด้านพืช ด้านสัตว์ และดัานประมง จำนวน 5 คน
สำหรับในด้านการเสริมสร้างความเข็มแข็งของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ซึ่งในวันนี้สำนักงานฯ ได้จัดเวทีเสวนา "ปัญหาอุปสรรด และความต้องการด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดหนองคาย" และจะได้นำผลสรุปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเป็นลำดับถัดไป พร้อมกันนี้ได้นำเสนอสวนเกษตรผสมผสาน ของนางสาวฤดี พวงจำปา เกษตรกรและสมาชิกสภาเกษตรกรอำเภอศรีเซียงใหม่ ที่ได้ประสบปัญหาในช่วงโควิด หลังจากปลูกพืชผสมผสาน เช่น ปลูกกล้วย ปลูกฝรั่งสายพันธุ์กิมจู สายพันธุ์หงเป่าสือ เงาะ ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตลาดที่ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ทำให้มีความมั่นคงด้านรายได้เพิ่มขึ้น จึงถือได้ว่าการทำเกษตรแบบผสมผสานทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืน ถือเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรอื่นสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น