วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566

ชาวพุทธหนองคายสืบทอดประเพณีโบราณ "บุญสลากภัต"

ชาวพุทธหนองคายทำบุญสลากภัต สืบทอดประเพณีโบราณ เป็นการอุทิศส่วนกุศลทำบุญให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว


วันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ ศาลาการเปรียญวัดแก้วพิจิตร หมู่ที่ 9  ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พระครูวิจิตรรัตนกร เจ้าอาวาสวัดแก้วพิจิตร พร้อมคณะสงฆ์ร่วมประกอบพิธีทำบุญประเพณีสลากภัต เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์งานประเพณีเก่าแก่และเป็นการอุทิศส่วนกุศลทำบุญให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีพุทธศาสนิกชนในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวนมากร่วมเป็นเจ้าภาพทั้งสิ้น 167 หาบ ถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์ของวัดแก้วพิจิตร




ประเพณีสลากภัต หรือที่ชาวภาคอีสานเรียก “บุญข้าวสาก” โดยตามประเพณีจะทำพิธีกรรมกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  ชาวบ้านจะนำปิ่นโตหรือตะกร้าแล้วใส่ของต่างๆลงไป เช่นอาหารคาวหวาน ผลไม้ สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมด้วยปัจจัยเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติสนิทมิตรสหายที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อเพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้มีของกินของใช้ในโลกหลังความตาย


จากนั้นก็จะนำเบอร์ไปติดที่หาบเพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำการจับเบอร์ด้วยหลักอุปโลกกรรม คือ ของที่ถวายในหาบนั้นมีทั้งของมากและของน้อยแล้วแต่เจ้าภาพจัดมา พระสงฆ์รูปใดจับได้เบอร์ไหนทางเจ้าภาพก็จะหาบๆนั้นไปถวาย ซึ่งการทำบุญสลากภัตในพระพุทธศาสนาเป็นประเพณีสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน


หลังเสร็จจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสาก ที่ห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว กลัดท้ายคล้ายกระทง ชาวบ้านบางรายก็ใช้โฟมแทนห่อด้วยใบตอง  ภายในห่อข้าวสากจะมีหมาก พลู บุหรี่ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย นำไปวางไว้ตามบริเวณวัด  พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้  นอกจากนี้  ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...