วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ถนนขาดซ้ำซาก!..รองผู้ว่าฯหนองคาย รุดตรวจสอบถนนหมู่บ้านสาวแล ถูกน้ำลำห้วยทอนซัดถนนขาดซ้ำจุดเดิมเป็นรอบที่ 3

รองผู้ว่าฯหนองคาย ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายถนนหมู่บ้านสาวแลขาด หลังฝนถล่มหนองคายนานหลายวัน น้ำลำห้วยทอนทะลักซัดถนนขาดซ้ำจุดเดิมเป็นครั้งที่ 3 รถสัญจรผ่านไปมาไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 600 ครัวเรือน ต้องเลี่ยงใช้เส้นทางอื่น เบื้องต้น นพค.25 เตรียมติดตั้งสะพานแบริ่ง ช่วยเส้นทางสัญจรชาวบ้าน


วันที่ 1 ต.ค. 2566 เวลา 14.00 น. นายรัฐศาสตร์  ชิดชู  รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายกรณีทางหลวงชนบท หมายเลข นค.3005 บ้านสาวแล หมู่ที่ 4 ต.โพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ถูกน้ำในลำห้วยทอนกัดเซาะจนขาดไม่สามารถเดินทางสัญจรไปมาได้ โดยมีนายอาทิตย์ สุดแสง ปลัดอำเภองานป้องกันอำเภอโพธิ์ตาก นายสมคิด ลังกา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 25 (นพค.25) ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น เจ้าหน้าอบต. และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมรายงานสถานการณ์ ซึ่งเหตุเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ของวานนี้ (30 ก.ย. 66) หลังมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน เป็นเหตุให้น้ำในลำห้วยทอนเพิ่มสูงขึ้น โดยมวลน้ำไหลแรงพัดถนนที่เป็นถนนคอนกรีตทำให้ท่อลอดใต้ถนนแตกและถนนขาดมีความกว้างประมาณ 12 เมตร ลึก 3 เมตร บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านสาวแลได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ชาวบ้าน ที่อาศัยในหมู่บ้านสาวแล ทั้งหมู่ที่ 4 , 5 และ 6 ต.โพธิ์ตาก กว่า 600 หลังคาเรือน ถูกตัดขาดได้รับความเดือดร้อน ต้องไปใช้ถนนสายรองในการสัญจรไปไร่ไปสวน และไปติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอโพธิ์ตาก เป็นการชั่วคราว 





ซึ่งก่อนหน้านี้บริเวณดังกล่าวเคยถูกน้ำกัดเซาะถนนจนขาดมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ทำให้ถนนขาดเป็นความกว้างกว่า 10 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถูกน้ำได้กัดเซาะทำเอาถนนขาดเป็นความกว้างกว่า 20 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร โดยในครั้งที่สองนี้ได้มีข้อสรุปว่า อบต.โพธิ์ตาก และ ปภ.หนองคาย จะทำการสร้างบล็อกคอนเวิร์สทดแทนการใช้ท่อกลม เพื่อแก้ปัญหาได้ระยะยาว แต่ถูกชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพื้นที่ตอนล่างของตำบลโพธิ์ตากคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าน้ำที่ไหลหลากอย่างรวดเร็วจะท่วมขังพื้นที่เกษตร จึงจำเป็นต้องทำท่อลอดเหมือนเดิม แต่ก็มาเกิดเหตุน้ำซัดถนนขาดอีกครั้งในระยะเวลาแค่ปีเดียว


เบื้องต้น นพค.25 จะประสานไปยังสำนักพัฒนาภาค 2 หน่วยทหารพัฒนา นำสะพานแบริ่งมาติดตั้งเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สัญจรชั่วคราว หลังจากนี้ทาง อบต.โพธิ์ตาก จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ร่วมกับฝ่ายปกครองตำบล เพื่อหาทางออกร่วมกันในการสร้างถนนให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติต่อไป








วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566

ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย เปิดแข่งเรือพายท้องแบนชุมชนป่างิ้ว กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในชุมชน

"เอกธนัช" ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย เปิดแข่งเรือพายท้องแบนชุมชนป่างิ้ว เพิ่มความสามัคคีในชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในชุมชน หวังสืบสานประเพณีอันดีงามที่มีมาแค่โบราณให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้และสืบทอดคงอยู่สืบไป


วันที่ 30 ก.ย. 2566 ที่ ริมฝั่งลำห้วยโมง ชุมชนป่างิ้ว 2 เขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายเอกธนัช อินทร์รอด สมาชิกสภาผู้แทนราชฎรจังหวัดหนองคาย เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือพายท้องแบนประเภทไม่เกิน 7 ฝีพาย ประจำปี 2566 โดยคณะกรรมการชุมชนป่าวิ้ว ร่วมกับองค์กรหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในชุมชน พร้อมใจสืบสานมรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำขึ้น โดยมี ร.ต.อ.ดีเด่น จันทะวิระ ประธานชุมชนป่างิ้ว 2 กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายอมรวิทย์ เปียผ่อง ที่ปรึกษา ส.ส.หนองคาย เขต 3 พรรคเพื่อไทย นายเอกรัฐ อินทร์รอด สมาชิกสภาจังหวัดหนองคาย  นายเนตร  มุนิวงศ์ ปลัดเทศบาลเมืองท่าบ่อ รวมทั้งสมาชิกสภา คณะกรรมการชุมชน พ่อค้า ประชาชน และนักท่องเที่ยวร่วมพิธีเปิด



สำหรับการแข่งขันเรือพายท้องแบนชุมชนป่างิ้ว ประเภทไม่เกิน 7 ฝีพาย ถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญ เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสายน้ำที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสามัคดีให้เกิดขึ้นในชุมชน ถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนให้ได้ออกกำลังกาย และเป็นแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะสืบสานประเพผีอันดีงามที่มีมาแค่โบราณ  ให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้และสืบทอดให้คงอยู่สืบไป

โดยการแข่งขันครั้งนี้มีทีมเรือเข้าร่วมชิงชัยจำนวน 2 ประเภท คือ  ประเภทเรือชุมชนชาย-หญิง ไม่เกิน 7 ฝีพาย จำนวน 6 ทีม และประเภททั่วไปชายไม่เกิน 7 ฝีพาย จำนวน 11 ทีม โดยมีทีมเรือภายในจังหวัดหนองคายเข้าร่วมชิงชัยอย่างคึกคัก









วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566

ชาวพุทธหนองคายสืบทอดประเพณีโบราณ "บุญสลากภัต"

ชาวพุทธหนองคายทำบุญสลากภัต สืบทอดประเพณีโบราณ เป็นการอุทิศส่วนกุศลทำบุญให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว


วันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ ศาลาการเปรียญวัดแก้วพิจิตร หมู่ที่ 9  ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พระครูวิจิตรรัตนกร เจ้าอาวาสวัดแก้วพิจิตร พร้อมคณะสงฆ์ร่วมประกอบพิธีทำบุญประเพณีสลากภัต เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์งานประเพณีเก่าแก่และเป็นการอุทิศส่วนกุศลทำบุญให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีพุทธศาสนิกชนในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงจำนวนมากร่วมเป็นเจ้าภาพทั้งสิ้น 167 หาบ ถวายสลากภัตแด่พระสงฆ์ของวัดแก้วพิจิตร




ประเพณีสลากภัต หรือที่ชาวภาคอีสานเรียก “บุญข้าวสาก” โดยตามประเพณีจะทำพิธีกรรมกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  ชาวบ้านจะนำปิ่นโตหรือตะกร้าแล้วใส่ของต่างๆลงไป เช่นอาหารคาวหวาน ผลไม้ สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมด้วยปัจจัยเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติสนิทมิตรสหายที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อเพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้มีของกินของใช้ในโลกหลังความตาย


จากนั้นก็จะนำเบอร์ไปติดที่หาบเพื่อให้พระสงฆ์ได้ทำการจับเบอร์ด้วยหลักอุปโลกกรรม คือ ของที่ถวายในหาบนั้นมีทั้งของมากและของน้อยแล้วแต่เจ้าภาพจัดมา พระสงฆ์รูปใดจับได้เบอร์ไหนทางเจ้าภาพก็จะหาบๆนั้นไปถวาย ซึ่งการทำบุญสลากภัตในพระพุทธศาสนาเป็นประเพณีสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน


หลังเสร็จจากนี้แล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสาก ที่ห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว กลัดท้ายคล้ายกระทง ชาวบ้านบางรายก็ใช้โฟมแทนห่อด้วยใบตอง  ภายในห่อข้าวสากจะมีหมาก พลู บุหรี่ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย นำไปวางไว้ตามบริเวณวัด  พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้  นอกจากนี้  ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก











วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566

ชาวพุทธหนองคาย "ทำบุญมหาสังฆทาน" สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ

ชาวพุทธหนองคาย "ทำบุญมหาสังฆทาน" สืบสานวัฒนธรรมอันดี ประเพณีชาวพุทธภาคอีสาน ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ


วันที่ 17 ก.ย. 2566 ที่ ศาลาการเปรียญวัดแก้วพิจิตร บ้านท่าบ่อ หมู่ 9 ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ชาวบ้านในชุมชนและใกล้เคียงร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีบุญมหาสังฆทาน โดยได้รับความเมตตาจากพระครูรัตนสราภิรม เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว เจ้าคณะตำบลท่าบ่อ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมพระเถรานุเถระ พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ตำบลท่าบ่อ รวม 14 รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์  โดยมี นายอนันท์ ศรีภา รองนายกเทศมนตรีเมืองท่าบ่อ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลฯ สมาชิกสภาเทศบาลฯ ผู้นำชุมชน และพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีจำนวนมาก



สำหรับบุญมหาสังฆทาน เป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวิถีพุทธประจำภาคอีสาน ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นกิจกรรมที่นำอาหารต่างๆ มาถวายพระสงฆ์พร้อมสร้างเป็นโรงทานแจกจ่ายให้กับเด็กๆ และชาวบ้านที่มาร่วมงานบุญ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ โดยในรอบปีแต่ละชุมชนในภาคอีสาน จะมีการจัดบุญประเพณีนี้ในช่วงกลางพรรษา



โดยก่อนที่จะมีงานบุญหนึ่งวัน ชาวบ้านจะร่วมกันกวนชนมปาด (กวนขนมเปียกปูน) ในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เพื่อเอาไว้เป็นของชำร่วยให้แก่ประชาชนที่มาร่วมทำบุญ ซึ่งเช้าวันถัดมาชาวบ้านก็จะนำอาหารประกอบด้วย อาหารหวาน อาหารคาว และผลไม้ต่างๆ มาทำบุญร่วมกันที่วัด นิมนต์พระจากหมู่บ้าน/ชุมชนใกล้เคียงมาร่วมพิธี วันนี้จึงเป็นวันที่ทุกคนได้บุญกับพระทั้งตำบล





จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา...