วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

บ้านทุ่งศิลป์ครูแดง ให้การต้อนรับนักศึกษาม.ราชธานี วข.อุดรธานี ในโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาในโครงการส่งเสริมครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อ ร.9

วันที่ 6 ก.ย. 63 ที่บ้านทุ่งศิลป์ครูแดง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย นายเฉลิมศักดิ์ ธรรมเรืองฤทธิ์ หรือครูแดงบ้านศิลป์ไทย นำทีมวิทยากรให้การต้อนรับคณะนักศึกษา หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี นำโดยนางลดาวรรณ เอียการนา อาจารย์ที่ปรึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย ในโอกาสเดินทางมาทัศนศึกษาในโครงการส่งเสริมครอบครัวเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยเท้าพ่อ ร. 9  ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังนักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย มีแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และเพื่อให้นักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย เป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงการรู้จักพึ่งตนเอง ความพอประมาณ พอมีพอกิน พอมีพอใช้ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผนตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ควรจะเป็น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภีวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามแนวพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร





สำหรับบ้านทุ่งศิลป์ครูแดง ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน โดยการนำมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอด สร้างสรรค์ ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน สังคม ผ่านการเล่าเรื่องราวทางด้านศิลปะควบคู่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการแบ่งพื้นที่ทำกิน 19 ไร่เศษ ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทาง หรือหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง(30+30+30+10%) โดย 30 %แรกคือน้ำ 30 %ที่สองคือข้าว 30 %ที่สามคือพืชผักผลไม้ และ10 % คือที่อยู่อาศัย




















วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

หยุดยาวชดเชยสงกรานต์ 4 วันนทท.แห่เที่ยวตามอำเภอชายขอบของ จ.หนองคาย จำนวนมาก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

บรรยากาศการท่องเที่ยวของชาวไทยเนื่องในวันหยุดชดเชยสงกรานต์ 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-7 ก.ย.63  มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัดหนองคาย กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอำเภอที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด ได้แก่ อ.ท่าบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ อ.สังคม และอ.โพธิ์ตาก เรียกว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวอำเภอชายขอบของจังหวัดหนองคายเริ่มฟื้นตัวและคึกคักอย่างมาก แต่เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่าย




สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวครั้งนี้ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางใกล้ๆ โดยเดินทางกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบกลุ่มครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน และเน้นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก โดยแหล่งท่องเที่ยวทั้งสี่อำเภอทางตอนเหนือของจังหวัดหนองคายก็จะมี วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ เป็นวัดสำคัญและเก่าแก่ของจังหวัดหนองคาย สิ่งสำคัญที่สุดในวัดนี้ก็คือ "หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือกันมาก เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หล่อด้วยทอง ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านชัาง มีพุทธลักษณะงดงามมาก นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร สูง 4 เมตร จากหลักฐานศิลาจารึกกล่าวว่า พระเจ้าองค์ตื้อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2105 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์นครเวียงจันทน์ โดยชาวบ้านน้ำโมงช่วยกันหล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ ซึ่งเป็นมาตราโบราณของอีสานจึงได้นามว่า "องค์ตื้อ" และเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร  พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาทินัดดามาศ  เสด็จเป็นองค์ประธานยกช่อฟ้าขึ้นสู่วิหารประดิษฐานหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ  (ม.ว.ก.) ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบรรณของวิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ และได้ทรงมอบพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์จารึกลงในแผ่นศิลาหินอ่อนไว้ด้านหน้าของตัววิหารหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อด้วย









เช่นเดียวกับวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะพาครอบครัวเดินทางเข้าไปทำบุญ ไหว้สักการะหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระป่าในประเทศไทย ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียง และภายในวัดยังได้จัดสร้างสกายวอล์คพื้นกระจกใส ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่จุดชมวิวสองฝั่งโขงไทย-ลาว โดยมีให้เลือกสองขนาด คือขนาดเล็ก กว้างประมาณ 2 เมตร ยื่นออกจากฝั่งไปยังแม่น้ำโขงประมาณ 2 เมตร เป็นขนาดพอเหมาะสำหรับผู้ที่กลัวความสูง แต่อยากถ่ายภาพที่ระลึก และสกายวอล์คขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากสกายวอล์คเล็กประมาณ 30 เมตร ที่มีความกว้างประมาณ 5 เมตร ยื่นออกจากฝั่งไปยังแม่น้ำโขงประมาณ 6 เมตร ขณะนี้มีความสูงจากพื้นถึงแม่น้ำโขงประมาณ 15 เมตร พื้นเป็นแผ่นกระจกใส สร้างความหวาดเสียวให้กับผู้ที่ขึ้นไปสัมผัสบนสกายวอล์คแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่ออยู่บนสกายวอล์คสามารถมองเห็นวัดถ้ำพระ ของเมืองสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามและมองเห็นวิวแม่น้ำโขงสองฝั่งโขงไทย-ลาวที่สวยงามได้อย่างชัดเจน ซึ่งสกายวอล์คแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 1.2 ล้านบาท 







และนักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้ก็คือ สกายวอล์ควัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม สกายวอล์ควัดผาตากเสื้อแห่งนี้ ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งแรกของประเทศไทยและจังหวัดหนองคาย จุดชมวิวที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเห็นทัศนียภาพแบบพาโนรามาของสองฝั่งแม่น้ำโขงยาวเป็นสาย เห็นเมืองสังข์ทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งวัดผาตากเสื้อ ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร และวัดแห่งนี้ถือว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคายเลยก็ว่าได้ และที่ได้สร้างสกายวอล์คขึ้นมานั้น ก็เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวกันมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดหนองคายด้วย




ปิดท้ายด้วยการ "ล่องแพบางกอกน้อย" ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก เป็นการล่องแพที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านบ้านบางกอกน้อย ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวไว้สำหรับเล่นน้ำคลายร้อนและเป็นสถานที่ผักผ่อนหย่อนใจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่วงนี้คึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวอย่างนี้ จะมีนักท่องเที่ยวมาล่องแพจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งร้านอาหาร ร้านของฝาก กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาไประยะหนึ่ง จากผลกระทบของโควิด-19 












วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

สืบทอดมาจากรุ่นพ่อ-แม่ ข้าวหลามสูตรโบราณยายจ่อย ในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ขายมานานกว่า 30 ปี สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี

ยายสัมฤทธิ์ ชัยสุวรรณ หรือยายจ่อย อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29 บ้านทุ่งสว่าง หมู่ 5  ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้ยึดอาชีพการทำข้าวหลามแบบโบราณออกจำหน่าย มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในช่วงเช้าของทุกวัน บริเวณเพิงขนาดเล็กที่ปลูกไว้บริเวณหน้าบ้าน ติดถนนหลวงหมายเลข 211 สายศรีเชียงใหม่-สังคม



ยายจ่อย กล่าวว่า ตนได้ทำข้าวหลามแบบโบราณออกจำหน่ายมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยสืบทอดสูตรทำข้าวหลามมาจากพ่อและแม่ที่พาตนทำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งจะใช้กรรมวิธีที่เรียบง่ายแบบชาวบ้านในการทำ เริ่มจากการนำกระบอกข้าวหลามที่ซื้อมา นำมาทำความสะอาด และผึ่งไว้ สำหรับข้าวก็จะแช่ค้างคืนไว้หนึ่งคืน โดยข้าวที่แช่ไว้จะมีอยู่สองชนิด คือข้าวขาวและข้าวเหนียวดำ จากนั้นจะนำไปคลุกกับเผือก ใส่น้ำเติมกะทิที่ตนคั้นเอง กรอกใส่กระบอกข้าวหลาม โดยแยกข้าวขาวและข้าวเหนียวดำ แล้วนำไปเผาด้วยถ่านฟืนซึ่งจะทำให้เกิดความหอม โดยตนเองจะทำออกขายวันหนึ่งประมาณ  50-60 กระบอก แต่ช่วงเทศกาล เช่นงานวัด งานบุญแข่งเรือ ก็จะทำเยอะหน่อย ประมาณ 100 กระบอก มีราคาตั้งแต่กระบอกละ 25, 30, 40 และ 50 บาท ซึ่งจะขายหมดทุกวัน และกระบอกไหนที่สุกไม่ทัน ลูกค้าก็จะจ่ายเงินไว้ แล้วตนก็จะเก็บข้าวหลามไว้ให้ลูกค้า เพื่อให้ได้รับประทานข้าวหลามสูตรโบราณของตน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่จะมีลูกค้าเดินทางมาซื้อกันอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงข้าวใหม่ ทำให้ข้าวหลามมีรสชาติดี สามารถสร้างรายได้ให้ตนถึงวันละ 500 บาทหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลจะมีรายได้ถึงวันละ 1,000 บาทเลยทีเดียว



ทั้งนี้ข้าวหลามสูตรโบราณของยายจ่อย นอกจากจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งขาจรและขาประจำที่ทยอยเดินทางมาอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง และในช่วงบ่ายก็จะขายหมดทุกวัน โดยหนึ่งในลูกค้าที่ซื้อข้าวหลามยายจ่อยกล่าวว่า ตนเป็นลูกค้าขาประจำของยายจ่อยมานาน กินครั้งใดรสชาติก็คงความดั้งเดิม ข้าวเหนียวนุ่ม ไม่แฉะ ไม่หวานมาก หอมกลิ่นข้าวที่ถูกเผาด้วยถ่านไม้อ่อนๆ ซึ่งทุกครั้งจะเดินทางมาซื้อรับประทานเอง อีกทั้งจะซื้อไปฝากคนรู้จักต่างพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะติดใจในรสชาติกันทุกคน แต่เป็นที่น่าเสียดายก็คือ ท่าวันไหนยายจ่อยเป็นอะไรไป คงไม่มีใครมาสืบทอดต่อจากแก เนื่องจากลูกๆ นั้นต่างมีครอบครัวไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่อื่น สูตรที่ยายจ่อยทำก็ไม่มีใครสามารถทำได้เหมือนแกได้  เพราะมีกรรมวิธีที่เป็นแบบเฉพาะที่สืบทอดกันมาตั้งรุ่นพ่อแม่ของยายจ่อย






จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...