วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562

ผู้ใหญ่บ้านพอเพียง ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนาขาย สร้างรายได้เสริมกว่าหมื่นบาทต่อเดือนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง ให้ผู้คนศึกษานำไปเลี้ยงทำเงิน


การเลี้ยงหนูนา เป็นอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรที่กำลังมองหาอาชีพเสริม จากการทำไร่ทำนา เช่นเดียวกับนายคำพอง โพธิจันทร์ อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านฝาง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้สร้างอาชีพเกษตรทางเลือกใหม่ ด้วยการทำฟาร์มเลี้ยงหนูนา หรือที่ชาวบ้านอีสานเรียกว่า"หนูพุก" ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากชาวบ้านนิยมนำไปปรุงเป็นอาหารเมนูเด็ดอีสาน  ทำให้ผู้ใหญ่คำพอง โพธิจันทร์ เกิดแนวคิดใหม่ที่จะนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ในครัวเรือน โดยยึดหลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้เสริมอีกทาง ถึงเดือนละกว่า 10,000 บาท






ผู้ใหญ่คำพอง โพธิจันทร์  กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำไร่ ทำนามาทั้งชีวิต จึงหาแนวทางสร้างอาชีพเสริมหลังฤดูทำนา โดยเริ่มแรกนั้นได้ทดลองทำฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมือง แต่บางทีมีปัญหาเรื่องราคาไก่ตกต่ำ ขาดทุน จึงอยากจะหาแนวทางอื่น กระทั่งได้ดูในยูทูปพบว่ามีสัตว์ป่าพื้นบ้านที่สามารถเลี้ยงได้ นั้นก็คือ “หนูนา” หรือ “หนูพุก” ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจะสร้างรายได้ดี เพราะเห็นมีวางขายตามตลาด และเป็นที่ต้องการของชาวบ้าน ซื้อไปปรุงเป็นเมนูเด็ดของแซบอีสาน ซึ่งส่วนตัวรวมทั้งครอบครัวก็ชอบรับประทานหนูนาด้วยเช่นกัน  จึงไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจากฟาร์มในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี คู่ละ 900 บาท ซื้อทั้งหมด 6 ตัว แยกเป็นพ่อพันธุ์ 2 ตัว แม่พันธุ์ 4 ตัว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,900 บาท นำมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ลงทุนไปทั้งสิ้น 30,000 บาท






วิธีการเลี้ยงตนได้ศึกษาค้นคว้าทางยูทูป โดยวิธีการแยกคู่ผสมพันธุ์ ตั้งท้องได้ประมาณ 1 เดือน ออกลูกครั้งละ 4 -5 ตัว หลังจากนั้นก็ทำการแยกครอบครัวหนูโดยสร้างโรงเรือนก่ออิฐบล็อก เน้นเลี้ยงแบบธรรมชาติมากที่สุด ให้พืชเป็นอาหาร มีเสริมหัวอาหารเล็กน้อย และหญ้าเนเปียร์ ที่สำคัญจะต้องเลี้ยงด้วยความสะอาด ปลอดภัย ป้องกันการเกิดโรคระบาด ซึ่งได้ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาวิธีในการดูแลป้องกัน โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2-3 เดือน เมื่อหนูนาโตได้ขนาดจะส่งออกขายกิโลกรัมละ 180 บาท ตกตัวละ 100 - 200 กิโลกรัม แล้วแต่ขนาด ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายคู่ละ 500 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงฟาร์ม เลี้ยงหนูนาไม่ถึงปีได้เงินทุนกลับมาหมด ปัจจุบันตนมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ประมาณ 50 ตัว มีหนูนาทั้งหมดกว่า 300 ตัว จนฟาร์มของตนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ฟาร์มตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชาวบ้านและผู้ที่สนใจมาศึกษานำไปเลี้ยงสร้างรายได้เสริมต่อไป

นอกจากนี้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ยังได้รวมกลุ่มกันทำฟาร์มเพาะเห็ดนางฟ้า โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ขายบ้าง แบ่งบ้าง ตามวิถีทางของหมู่บ้าน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จ.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา" เฉลิมพระเกียรติฯ

สนง.พช.หนองคาย ขับเคลื่อนการตำเนินงานโครงการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุต์สู่ "โคก หนอง นา"...