วันที่ 23 มิ.ย. 63 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยหินสิ่ว บ้านไทยเจริญ หมู่ 4 ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี โดยมี พันจ่าเอกพิเชษฐ์ ไพรพยอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพระพุทธบาท อ่านประวัติห้วยหินสิ่ว มีนายพรต ภูภักดิ์ นายอำเภอศรีเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ มีนายสุริยา จงโยธา ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวรายงาน พร้อมด้วยข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัด เจ้าหน้าที่ชลประทานหนองคาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงาน/ลูกจ้าง อบต. นักเรียน นิสิตนักศึกษา พ่อค้า และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรม
ด้วยในวันที่ 3 มิถุนายน เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี กรมประมงได้เห็นชอบให้ดำเนินการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนี เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยได้รับการสนับสนุนพันธ์สัตว์น้ำจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย จำนวน 500,000 ตัว แยกเป็นปลาบึก 10 ตัว ปลานิล 250,000 ตัว ปลาไน 250,000 ตัว
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินสิ่ว อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมพระราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการหลวงปูเทสก์ เทสรังสี เจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมระบบส่งน้ำเกี่ยวกับฝ่ายทดน้ำห้วยหินสิ่วที่ กรบ.กลาง(นพค.25) ได้สร้างไว้แล้ว แต่มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยไม่สามารถทำการเกษตรไดั พระองค์ทรงมีพระราชดำริ จะสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่เหนือฝายทดน้ำเดิม ให้สามารถทำการเกษตรได้
ต่อมา สำนักงานชลประทาน ที่ 4 ได้สนองพระราชดำริของพระองค์ โดยทำการก่อสร้างอ่างก็บน้ำ ชื่อว่า "อ่างเก็บน้ำห้วยหินสิ่ว" เมื่อปี พ.ศ. 2528 ลักษณะโครงการ เป็นอ่างเก็บน้ำ ทำนบดินยาว 565 เมตร ทำนบดินสูงสุด 10.40 เมตร สันเขื่อนกว้าง 4.00 เมตร ฐานเขื่อนกว้างเฉลี่ย 50 เมตร ปริมาณกักเก็บน้ำ สูงสุด 910,000 ลูกบาศก์เมตร
เป้าหมายของโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายน้ำสู่พื้นที่เพาะปลูก ในฤดูฝน ประมาณ 1,000 ไร่ และในฤดูแล้ง ประมาณ 500 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเป็นศูนย์รวมในการใช้ประโยชน์ ร่วมกัน และบำรุงรักษาทุกหน่วยงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น